ลิ้งค์เชื่อมต่อ

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นมีมติเรียกร้องเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง


A protester wears a T-shirt depicting detained Myanmar civilian leader Aung San Suu Kyi during a demonstration outside the Embassy of Myanmar in Bangkok on Dec. 19, 2022
A protester wears a T-shirt depicting detained Myanmar civilian leader Aung San Suu Kyi during a demonstration outside the Embassy of Myanmar in Bangkok on Dec. 19, 2022

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติสำคัญออกมาสำหรับเมียนมา โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยุติการใช้ความรุนแรงต่าง ๆ และปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด ซึ่งรวมถึง นาง ออง ซาน ซู จี อดีตผู้นำรัฐบาลพลเรือนและประธานาธิบดีวิน มินต์ ที่ถูกกองทัพจับกุมตัวหลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี ค.ศ. 2021 ทันที

มติของคณะมนตรีฯ ที่ออกมาเมื่อวันพุธนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญครั้งแรกนับตั้งแต่เมียนมา ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่าพม่า เข้ามาเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 1948

UN-MYANMAR-DIPLOMACY
UN-MYANMAR-DIPLOMACY

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นยังขอให้รัฐบาลทหารเมียนมาดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อที่ตกลงไว้กับประชาคมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมโดยทันที และขอให้เคารพต่อความปรารถนาของประชาชนในเมียนมาที่จะเห็นประเทศปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยด้วย

รายงานข่าวระบุว่า มติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 12 ประเทศ โดยมี 3 ประเทศอันได้แก่ จีน อินเดีย และรัสเซีย ที่งดออกเสียง

อย่างไรก็ดี ผู้แทนสมาชิกบางรายยอมรับว่า การดำเนินการต่าง ๆ ของคณะมนตรีฯ นั่นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกถาวร ออกโรงคัดค้านการดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตเมียนมาเสมอ

บาร์บารา วูดเวิร์ด ทูตอังกฤษ กล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นหลังมีการลงคะแนนมติดังกล่าวที่อังกฤษเป็นผู้เสนอ ว่า “วันนี้ เราได้ส่งข้อความอันหนักแน่นไปยังกองทัพทหารว่า ไม่มีอะไรต้องสงสัยเลย ว่า เราคาดหวังให้มีการดำเนินตามมตินี้เต็มรูปแบบ” และว่า “เราได้ส่งข้อความอันชัดเจนไปยังประชาชนของเมียนมาว่า เราต้องการเห็นความก้าวหน้าในด้านสิทธิของพวกเขา การทำตามความปรารถนาและสิ่งที่เป็นประโยชน์ของพวกเขา”

ทูตวูดเวิร์ด กล่าวเสริมว่า มตินี้ยังมีเงื่อนไขให้เลขาธิการใหญ่ยูเอ็นสรุปรายงานสถานการณ์ในเมียนมากลับมายังคณะมนตรีความมั่นคงในช่วงฤดูใบไม้ผลิด้วย

Protesters hold up pictures of detained Myanmar civilian leader Aung San Suu Kyi during a demonstration outside the Embassy of Myanmar in Bangkok on Dec. 19, 2022
Protesters hold up pictures of detained Myanmar civilian leader Aung San Suu Kyi during a demonstration outside the Embassy of Myanmar in Bangkok on Dec. 19, 2022

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แสดงความยินดีต่อการผ่านมตินี้ออกมา โดยระบุในแถลงการณ์ว่า การมีมติดังกล่าวเป็นก้าวสำคัญของคณะมนตรีความมั่นคง แต่ย้ำว่า ยังคงมีอีกหลายเรื่องที่ต้องมีการดำเนินการต่อไป

ขณะเดียวกัน จอ โม ตุน ทูตเมียนมาประจำองค์การสหประชาชาติ บอกกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government - NUG) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐบาลเงา ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับท่าทีล่าสุดของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ที่มีเนื้อหาว่า มติดังกล่าว “แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในส่วนของคณะมนตรีความมั่นคง ที่จะลงมือจัดการกับวิกฤตร้ายแรงในเมียนมาและกับภัยคุกคามจากรัฐบาลทหารต่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ”

ทูต จอ โม ตุน กล่าวด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้ว ตนอยากจะให้มติดังกล่าวมีการใช้ภาษาที่รุนแรงกว่าที่ออกมาด้วย

ส่วนจีนที่งดออกเสียงต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการมากกว่าจะออกเป็นมติ โดย จาง จุน ทูตจีนประจำยูเอ็น บอกกับผู้สื่อข่าวหลังการลงคะแนนเสียงว่า “ไม่มีวิธีแบบรวดเร็ว ใด ๆ ซึ่งรวมความถึงมติจากภายนอก(ประเทศ) ที่จะแก้ไขปัญหาในเมียนมาได้ และการคลี่คลายสถานการณ์อย่างเหมาะสมได้นั้นขึ้นอยู่กับตัวเมียนมาเท่านั้น”

ฝ่ายรัสเซียนั้นไม่คิดว่าภัยคุกคามของเมียนมาเป็นเรื่องสำคัญที่คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นควรใส่ใจ และ วาสสิลี เนเบนเซีย ทูตรัสเซียประจำยูเอ็น กล่าวว่า “ในหลักการนั้น จุดยืนของเราก็คือว่า สถานการณ์ในเมียนมาไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเลย”

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเคยออกแถลงการณ์ออกมาฉบับหนึ่งที่เรียกร้องให้เมียนมาปล่อยตัวนักโทษทุกคนที่กองทัพใช้อำนาจเบ็ดเสร็จควบคุมตัวไว้ ซึ่งรวมถึง ออง ซาน ซู จี และ วิน มินต์ ให้เป็นอิสระในทันที

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG