ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักข่าวญี่ปุ่นเตรียมแฉชีวิตคุกเมียนมา หลังได้รับอิสรภาพ


Toru Kubota, a Japanese journalist jailed for more than three months in Myanmar, speaks during a press conference at the Foreign Correspondents' Club of Japan (FCCJ), Nov. 28, 2022, in Tokyo, Japan.
Toru Kubota, a Japanese journalist jailed for more than three months in Myanmar, speaks during a press conference at the Foreign Correspondents' Club of Japan (FCCJ), Nov. 28, 2022, in Tokyo, Japan.

ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในเมียนมาประกาศที่จะเดินหน้าเล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของนักโทษนับหมื่นคนที่ถูกรัฐบาลกองทัพเมียนมาควบคุมตัวไว้นับตั้งแต่เกิดเหตุรัฐประหารเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน

โทรุ คูโบตะ ซึ่งเดินทางไปรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมา ก่อนจะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคมในข้อหาทำผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ข้อหาปลุกระดมและข้อหาอื่น ๆ โดยถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 ปี เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ภายใต้แผนอภัยโทษทั่วประเทศ

และภายหลังเดินทางกลับถึงญี่ปุ่น คูโบตะ ร่วมงานแถลงข่าวในวันจันทร์และระบุว่า ตนนั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มคนกว่า 16,000 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเมียนมา และว่า ตนนั้นเข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านั้นได้ดีกว่าที่ผ่านมา โดยยังมีคนจำนวนมากที่ยังถูกคุมขังอยู่

ผู้สื่อข่าวญี่ปุ่นรายนี้ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ด้วยกล่าวว่า ตนยังเป็นหนึ่งในนักโทษราว 20 คนที่ถูกคุมขังอยู่ในห้องขัง “นรก” ที่มีขนาดเล็กมากจนต้องนอนทับกัน ก่อนจะถูกย้ายไปอยู่ที่เรือนจำอินเส่ง ในนครย่างกุ้ง

ในระหว่างการแถลงข่าว คูโบตะ ยังได้นำข้อความบางส่วนจากเพื่อนนักโทษที่ฝากเขามาแจ้งโลกภายนอกเพื่อขอความช่วยเหลือ เช่น “หวังว่าทุกคนจะสามารถนำพาความยุติธรรม สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมาสู่พม่าได้” และ “ขอบคุณที่ยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวพม่า” เป็นต้น

นอกจากนั้น คูโบตะ กล่าวว่า ตนหวังที่จะเดินหน้าผลิตภาพยนตร์ซึ่งจะช่วยให้คนทั่วโลกเข้าใจถึงความทุกข์ยากของผู้คนในเมียนมาต่อไป หลังจากเคยนำเสนอผลงานหลายชิ้นมาก่อนหน้านี้ อาทิ สารคดีเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกรัฐบาลทหารเมียนมาข่มเหงรังแกจนต้องหนีออกนอกประเทศ

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถช่วยผู้ประสบภัยจากที่ต่าง ๆ ได้มากกว่าที่ทำอยู่ ด้วยการเปิดรับผู้ลี้ภัยทั้งจากเมียนมาและประเทศอื่น ๆ และว่า “เราต้องคิดถึงวิธีที่จะปกป้องคุ้มครองผู้คนที่พยายามหลบหนีการปกครองแบบเผด็จการ ... ญี่ปุ่นนั้นคือ ที่ ๆ ผู้คนมองเห็นเป็นสถานที่แห่งความหวัง”

ข้อมูลจาก Japan Association for Refugees ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศมาเพียง 74 คนเท่านั้น

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG