ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำอาเซียนเรียกร้องเมียนมาเดินหน้าแผนสันติภาพ


Cambodia ASEAN
Cambodia ASEAN

ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ออก “คำเตือน” ให้เมียนมาเดินหน้าตามแผนสันติภาพ ไม่เช่นนั้นอาเซียนอาจไม่อนุญาตให้เมียนมาเข้าร่วมประชุม ขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองและสังคมในเมียนมาทวีความรุนแรงขึ้น ตามรายงานของรอยเตอร์

อาเซียนระบุว่า ชาติสมาชิกสรุปว่าจะต้องมี “ตัวชี้วัดที่ชัดเจน ปฏิบัติได้จริง โดยมีกำหนดเวลาที่แน่นอน” หลังฉันทามติห้าข้อเพื่อสันติภาพของเมียนมา ที่สรุปได้เมื่อปีที่แล้ว มี “ความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย”

อาเซียนยังระบุด้วยว่า จะทบทวนตัวแทนของเมียนมาที่เข้าร่วมประชุมในทุกระดับของอาเซียน หลังจากห้ามผู้นำทหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมระดับสูงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเมื่อวันศุกร์ ที่นั่งของเมียนมาถูกเว้นว่างระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

เรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ระบุว่า แถลงการณ์ของอาเซียนในครั้งนี้ส่ง “ข้อความที่ชัดเจนหรืออาจเป็นถึงคำเตือนถึงรัฐบาลทหาร” ของเมียนมา โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มาร์ซูดีระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาเป็นผู้รับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวต่อความล้มเหลวในการปฏิบัติตามกระบวนการสันติภาพ

An empty chair for Myanmar delegation is pictured during the ASEAN Summit in Phnom Penh, Cambodia November 10, 2022.
An empty chair for Myanmar delegation is pictured during the ASEAN Summit in Phnom Penh, Cambodia November 10, 2022.

กระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา แสดงท่าทีต่อต้านแถลงการณ์ของอาเซียนในวันศุกร์เช่นกัน โดยระบุว่า รัฐบาลทหารเมียนมาจะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาเซียน โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า การระบาดของโควิด-19 และการรับมือกับกองกำลังติดอาวุธ เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความคืบหน้าตามแผนดังกล่าว

ทั้งนี้ เมียนมาเผชิญความโกลาหลทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ นับตั้งแต่กองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี เมื่อปีที่แล้ว และปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง

อาเซียน ซึ่งมีธรรมเนียมปฏิบัติในการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก ไม่ออกมาตรการลงโทษเมียนมาเหมือนชาติตะวันตก และไม่ขับไล่เมียนมาออกจากอาเซียน แม้ว่าอาเซียนจะประณามการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของรัฐบาลทหารเมียนมา เช่น การประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และการโจมตีทางอากาศที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 50 คน

แพทริค พงษ์สาธร จากองค์กร Fortify Rights ระบุว่า การที่อาเซียนยังคงไม่ระงับการเข้าร่วมของรัฐบาลทหารเมียนมาในกิจกรรมของอาเซียน แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีชาติอาเซียนใดลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในประเด็นดังกล่าว และยังเป็นการอนุญาตโดยนัยให้รัฐบาลทหารเมียนมา “ก่ออาชญากรรมต่อไปได้”

ความตึงเครียดระดับโลก

หลังชาติอาเซียนประชุมแบบปิดไปแล้ว ผู้นำชาติอาเซียนยังหารือถึงความตึงเครียดอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงประเด็นคาบสมุทรเกาหลีและไต้หวัน กับผู้นำชาติต่าง ๆ เช่น นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ของจีน และประธานาธิบดียูน ซอก-ยอล ของเกาหลีใต้

ปธน. โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายกฯ ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น มีกำหนดหารือกับอาเซียนในวันเสาร์ ขณะที่เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย มีกำหนดการเข้าร่วมประชุมบางส่วนด้วยเช่นกัน

นายกฯ ฮุน เซน ของกัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพอาเซียน กล่าวระหว่างเปิดการประชุมอาเซียน โดยเรียกร้องให้มีการใช้ความระมัดระวังและความรอบคอบ ในช่วงที่มีความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาค

นอกจากนี้ อาเซียนยังตกลงในหลักการเพื่อยอมรับติมอร์ตะวันออกเป็นชาติสมาชิกประเทศที่ 11 ทั้งนี้ ติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีอายุน้อยที่สุดในเอเชีย เริ่มเข้ามีส่วนร่วมกับอาเซียนเมื่อปี 2002 แต่สมัครสมาชิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2011

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG