ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทำไมบางประเทศสั่งตรวจหาเชื้อโควิดใน ‘น้ำเสีย’ จากเที่ยวบินจากจีน?


A passenger wearing protective clothing amid the Covid-19 pandemic waits to board a domestic flight at Shanghai Pudong International Airport in Shanghai on Jan. 3, 2023.
A passenger wearing protective clothing amid the Covid-19 pandemic waits to board a domestic flight at Shanghai Pudong International Airport in Shanghai on Jan. 3, 2023.

หลายประเทศเปิดเผยว่า ได้สั่งการให้มีการเฝ้าระวังและตรวจน้ำเสียจากทุกเที่ยวบินที่มาจากประเทศจีน ตามแผนงานรับมือภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่พุ่งสูงทั่วจีนในเวลานี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว มาตรการนี้จะไม่ได้ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเลย แต่ประเทศที่ดำเนินแผนงานนี้จะมีโอกาสประเมินระดับความรุนแรงของการระบาดในจีนและอาจจะได้พบว่า มีการกลายพันธุ์ของไวรัสหรือไม่ด้วย

การตรวจน้ำเสียจากเที่ยวบินทำอย่างไร

กระบวนการนี้เน้นไปที่การตรวจของเสียที่มาจากห้องน้ำบนเครื่องบินที่มาจากประเทศจีนเป็นหลัก โดยการวิเคราะห์น้ำเสียนี้มีเป้าหมายเพื่อการประเมินดูว่า มีผู้โดยสารสัดส่วนเท่าใดในเที่ยวบินหนึ่ง ๆ ที่ติดโควิด รวมทั้งเพื่อตรวจหาสายพันธุ์ไวรัสทั้งหมดที่มีอยู่ด้วย

ในการนี้ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะเก็บตัวอย่างน้ำเสียโดยตรงจากถังเก็บปฏิกูลจากห้องน้ำบนเครื่องบินที่ลงจอดเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อทำการทดสอบต่อไป

ในกรณีที่มีการตรวจพบไวรัส ตัวอย่างนั้นจะถูกส่งเข้าสู่ขั้นตอนการจัดลำดับจีโนมเพื่อตรวจดูว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยใด

ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างน้ำเสียนั้นยังทำได้จากพื้นที่ทั่วทั้งสนามบินด้วย แต่กระบวนนี้จะทำให้การชี้ชัดว่า ตัวอย่างใดมาจากประเทศใดเป็นไปไม่ได้เลย

ประเทศใดดำเนินการนี้บ้าง

ประเทศที่ประกาศแผนเก็บตัวอย่างน้ำเสียของเที่ยวบินจากจีนนั้น มีอาทิ เบลเยียม แคนาดา ออสเตรีย และออสเตรเลีย ขณะที่ มีการคาดการณ์ว่า สหภาพยุโรปน่าจะตัดสินใจดำเนินการแบบเดียวกันนี้ หลังตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขจากเกือบทุกประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันเมื่อวันอังคารที่จะออกคำแนะนำว่า ควรมีการเพิ่มมาตรการตรวจสอบน้ำเสียในแผนงานรับมือการระบาดโควิดด้วย

สำหรับสหรัฐฯ นั้น สื่อหลายแห่งรายงานว่า รัฐบาลกรุงวอชิงตันกำลังพิจารณาแผนงานนี้อยู่เช่นกัน

ทำไมต้องใช้มาตรการนี้

อัตราการติดเชื้อโคโรนาไวรัสในจีนพุ่งสูงอย่างมากตั้งแต่เมื่อเดือนที่แล้ว หลังรัฐบาลกรุงปักกิ่งประกาศยกเลิกมาตรการเข้มงวดต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ซึ่งใช้งานมาตั้งแต่เริ่มมีระบาดใหญ่เป็นวงกว้างมา

View of a hospital as COVID-19 outbreak continues in Shanghai
View of a hospital as COVID-19 outbreak continues in Shanghai

หลายประเทศซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีการสั่งการบังคับให้ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศจีนทุกคนต้องแสดงผลการตรวจโควิดที่เป็นลบก่อนจะเข้าประเทศได้ โดยมาตรการนี้ทำให้กรุงปักกิ่งแสดงความไม่พอใจออกมาทันที

แต่สำหรับมาตรการตรวจน้ำเสียนั้น การดำเนินการดังกล่าวจะไม่นำมาซึ่งการห้ามผู้ใดก็ตามที่ติดโควิดอยู่ไม่ให้เดินทางเข้าประเทศเหมือนการแสดงผลการตรวจการติดเชื้อ

อย่างไรก็ดี อันตวน ฟลาโฮลต์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลก (Institute of Global Health) จากมหาวิทยาลัยแห่งเจนีวา (University of Geneva) กล่าวว่า “ตัวอย่างเหล่านี้จะเป็นหน้าต่างส่องเข้าไปดูว่า สถานการณ์ของจีนในเวลานี้เป็นอย่างไร”

ฟลาโฮลต์ บอกกับเอเอฟพีด้วยว่า เรื่องนี้ถือเป็นจุดที่มีความสำคัญอย่างมาก ในขณะที่ “ความกังขาเกี่ยวกับความโปร่งใสและความถี่ถ้วนรอบคอบของข้อมูลสาธารณสุขอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลจีน” ยังคงเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายคาใจอยู่

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นิยามของคำว่า การเสียชีวิตจากโควิด ที่องค์การแห่งนี้มองว่า “แคบมาก ๆ” และกล่าวว่า สถิติอย่างเป็นทางการของจีน “สะท้อนภาพที่ต่ำกว่า” ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาลและตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศด้วย

ไม่ล่วงล้ำจนเกินไป

ฟลาโฮลต์ กล่าวเสริมว่า มาตรการจับตาตรวจสอบน้ำเสียนี้จะช่วยเพิ่มข้อมูลที่ขาดหายไปจากจีนได้เป็นอย่างดี และว่า “การเรียนรู้ว่า ผู้โดยสาร 30-50% ที่เดินทางมาจากจีนนั้นติดโควิดอยู่ ถือว่าเป็นประโยชน์ทีเดียว ในช่วงที่ตัวเลขที่เชื่อถือได้นั้นขาดหายไป”

นอกจากนั้น มาตรการนี้ยังเป็นโอกาสให้ประเทศต่าง ๆ ตรวจสอบว่า ไวรัสนั้นมีการกลายพันธุ์มาเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลต่อการประเมินทิศทางของภาวะระบาดใหญ่ เหมือนกับที่เกิดขึ้นกับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเมื่อปลายปี ค.ศ. 2021

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขออกมาเตือนว่า การเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่มีประชากรราว 1,400 ล้านคนอาจกลายมาเป็นการสร้างพื้นที่ขยายพันธุ์สำหรับไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ได้เป็นอย่างดีด้วย

ทั้งนี้ การตรวจสอบน้ำเสียนั้นเป็นกระบวนการที่ทำได้ง่ายกว่ามาก ทั้งยังไม่เป็นการล่วงล้ำมากเหมือนกับการตรวจหาการติดเชื้อในกลุ่มผู้โดยสารเครื่องบินขณะเดินทางมาถึงสนามบิน

ข้อจำกัด

แวงซองต์ มาเฮอร์แชล นักไวรัสวิทยาจากฝรั่งเศส บอกกับเอเอฟพีว่า ขณะที่ กระบวนการตรวจสอบน้ำเสีย “นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีอย่างมาก” ขั้นตอนนี้ไม่ได้นำเสนอ “มุมมองอันละเอียดถี่ถ้วน” เกี่ยวกับภาวะการติดเชื้อหรือสายพันธุ์ของไวรัสที่อยู่บนเครื่อง

ข้อจำกัดอีกข้อก็คือ มาตรการนี้เป็นการตรวจสอบเฉพาะผู้โดยสารบนเครื่องที่ใช้บริการห้องน้ำระหว่างการเดินทางเท่านั้น

นอกจากนั้น ขั้นตอนต่าง ๆ ของมาตรการนี้ต้องใช้เวลาเป็นวันเพื่อการจัดเก็บ การทดสอบ การจัดลำดับจีโนม และการวิเคราะห์ผลการศึกษา ซึ่งท้ายสุดก็ไม่สามารถลงลึกจนชี้ตัวได้ว่า ผู้โดยสารคนใดที่มีเชื้อไวรัสติดตัวอยู่

และท้ายสุด หนทางนี้ถือนำเสนอหนทางดำเนินการไม่กี่ทางแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ลงมือจัดการได้อย่างรวดเร็ว

มาเฮอร์แชล กล่าวว่า “ทันทีที่ได้ข้อมูลที่ต้องการมาแล้ว เราจะทำอะไรได้บ้าง โทรกลับไปหาคนทุกคนบนเครื่องหรือ?” และว่า ขณะที่ ข้อมูลนั้นน่าสนใจแต่ “มันก็สายเกินกว่าจะดำเนินมาตรการใด ๆ ได้อีก”

  • ที่มา: เอเอฟพี

XS
SM
MD
LG