ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไต้หวัน-สหรัฐฯ ร่วมหารือประเด็นความมั่นคง ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีน


FILE - A demonstrator holds flags of Taiwan and the United States in support of Taiwan in Burlingame, California, Jan. 14, 2017.
FILE - A demonstrator holds flags of Taiwan and the United States in support of Taiwan in Burlingame, California, Jan. 14, 2017.

เจ้าหน้าที่อาวุโสของรัฐบาลสหรัฐฯ และไต้หวัน ร่วมกันหารือหลากประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ความมั่นคงและการทูต” ซึ่งรวมถึง กรณีสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันและความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งแผนการเยือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสองรัฐบาล

แหล่งข่าวด้านการทูตเปิดเผยกับ วีโอเอ ในวันพุธ ว่า การประชุมดังกล่าวระหว่างตัวแทนจากวอชิงตันและไทเปเกิดขึ้นในวันอังคาร แต่ เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธเกี่ยวกับการหารือนี้ และย้ำเพียงว่า นโยบายของสหรัฐฯ เกี่ยวกับไต้หวันนั้นยังคงเหมือนเดิมและไม่เปลี่ยนแปลง

ไพรซ์ กล่าวเพียงว่า “ผมไม่มีเรื่องการประชุมใด ๆ ที่จะพูดถึงเป็นพิเศษ แต่สามารถกล่าวได้ว่า เรามีความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการอันแข็งแกร่งกับไต้หวัน อย่างที่ทราบกันอยู่ และเราก็จะเดินหน้าทำงานร่วมกับไต้หวันผ่าน American Institute in Taiwan (AIT) และ Taipei Economic and Cultural Representative Office (TECRO) ตามนโยบายที่ดำเนินมานานระหว่างกัน”

AIT นั้น คือ องค์กรที่รับผิดชอบการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับไต้หวันภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน ปี 1979 (Taiwan Relations Act) เนื่องจาก สหรัฐฯ ดำเนินโนบายจีนเดียว และไม่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไทเป ส่วน TECRO นั้น เป็นสำนักงานของรัฐบาลไต้หวันที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี แดเนียล คริเทนบริงค์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งเข้าร่วมประชุมกับตัวแทนไต้หวันเมื่อวันอังคาร บอกกับ วีโอเอ ว่า สหรัฐฯ คิดว่า การมี “สายสัมพันธ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้และนำมาปฏิบัติได้จริงกับไต้หวัน” นั้นจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อประชาคมโลกและหุ้นส่วนแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน มีแผนจะมาเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการในอนาคตหรือไม่ คริเทนบริงค์ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว และระบุเพียงว่า “เรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการแต่มีความสำคัญมากกับไต้หวัน ผมขอย้ำว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายจีนเดียวที่สหรัฐฯ ยึดมั่นตามกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน และแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ รวมทั้งคำยืนยัน 6 ครั้งที่ให้ไว้กับไต้หวัน”

ขณะเดียวกัน อีไล แรตเนอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก ที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าว บอกกับ วีโอเอ ด้วยว่า “เพื่อป้องกันความผิดพลาดใด ๆ และการยกระดับ(ความตึงเครียด)ในช่องแคบไต้หวัน” เรากำลังทำการเปิดช่องทางการสื่อสารกับกองทัพปลดปล่อยประชาชน (People's Liberation Army – PLA) อยู่ และว่า “เรามีการสื่อสารระดับฝ่ายปฏิบัติการระหว่างกระทรวงกลาโหม(สหรัฐฯ) และฝ่ายเดียวกันของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งในวอชิงตันและปักกิ่ง แต่เรายังไม่ได้มีการสื่อสารในระดับผู้นำกัน แม้ทางสหรัฐฯ จะร้องขอไปแล้วก็ตาม”

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG