ลิ้งค์เชื่อมต่อ

การปลูกพืชด้วยวิธี “สปีดบรีดดิ้ง” เร่งพืชให้ออกดอกออกผลเร็วขึ้น


เเม้ว่าสวนเพาะชำในเรือนกระจกในควีนสแลนด์อาจจะไกลจากสถานีอวกาศนานาชาติ เเต่กลับได้แนวคิดของการปลูกพืชที่เร่งให้ผลผลิตอย่างรวดเร็วจากโครงการทดลองปลูกพืชที่สถานีอวกาศนานาชาติ

ลี ฮิกคีย์ (Lee Hickey) นักวิจัยทุนอาวุโสที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ที่สถานีอวกาศนานาชาติ มีการปลูกข้าวสาลีโดยมีการส่องเเสงไปที่ต้นพืชอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ข้าวสาลีนอนหลับและเติบโตอยู่ตลอดเวลา

ทีมงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ มองว่าวิธีการปลูกพืชที่เร่งการเติบโตตลอดเวลาด้วยเเสงนี้เป็นแนวคิดที่ไม่เลวเลย จึงทดลองดูว่าอาจจะช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชบนโลกได้

การปลูกพืชแบบเร่งการเจริญเติบโตใช้เเสง LED ที่ส่องไปที่พืชที่ปลูกตลอดเวลารวมเเล้ว 22 ชั่วโมงต่อวัน ส่งผลให้พืชให้ผลผลิตเร็วขึ้น วิธีนี้ช่วยให้ทีมนักวิทยาศาสตร์สามารถปลูกพืชได้ถึง 6 รุ่นด้วยกันภายในเวลา 1 ปี เเทนที่จะปลูกได้เพียงหนึ่งรุ่นในพื้นที่เพาะปลูกจริงๆ หรือ 2 ถึง 3 รุ่นหากปลูกในเรือนกระจกทั่วไป

ลี ฮิกคีย์ นักวิจัยทุนอาวุโสที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า หากใช้เทคนิคเร่งการเติบโตของพืชวิธีนี้ ข้าวสาลีและบาร์เล่ย์ ให้ผลผลิตภายใน 6 สัปดาห์ เเละยังได้ผลกับพืชอีกหลายชนิดที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ในออสเตรเลีย เเละในชาติอื่นๆทั่วโลก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การปลูกพืชวิธีนี้จะช่วยให้ได้ผลผลิตพืชเร็วขึ้นเเละเป็นการเพิ่มปริมาณผลผลิตพืชต่อปีเพราะปลูกได้หลายรุ่นกว่าเดิม ทำให้สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเเก่การเลี้ยงปากท้องประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา

ลี ฮิกคีย์ นักวิจัยทุนอาวุโสที่มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย กล่าวว่า โลกจะมีประชากรโลกจำนวนเก้าพันล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องมีการปลูกพืชให้เพียงพอแก่การเลี้ยงปากท้องคนถึง 9 พันล้านคน เเละพืชที่ปลูกกันในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงคนจำนวนนี้ได้ จึงต้องมีการปรับปรุงพันธุกรรมพืช พัฒนาให้พืชเหล่านี้ให้ผลผลิตสูงขึ้นในสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น และยังเกิดความเเห้ง เเล้งบ่อยขึ้นและในสภาพที่ศัตรูพืชกับโรคพืช ที่วิวัฒนาการอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ทีมนักวิจัยออสเตรเลียทีมนี้ได้รายงานถึงผลการทดลองปลูกพืชด้วยเทคนิคการเร่งการเติบโตด้วยแสงในวารสาร Nature Plants โดยแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการปลูกพืชนี้กับนักวิทยาศาสตร์และนักเพาะพันธุ์พืชทั่วโลก

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)


XS
SM
MD
LG