ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไม้สังเคราะห์จากขยะพลาสติก วิถีลดมลพิษในแอฟริกา


Waste reclaimers in South Africa
Waste reclaimers in South Africa

แม้ว่าทั่วโลกจะมีความพยายามที่จะควบคุมปริมาณการใช้งานพลาสติก แต่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า ในพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา จะมีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นราว 6 เท่าภายในปี 2060

อย่างไรก็ดี มีชายคนหนึ่งในประเทศแอฟริกาใต้พยายามผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านนี้ ด้วยการนำขยะพลาสติกมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งและอุปกรณ์ในสนามเด็กเล่น ซึ่งนอกจากจะสามารถช่วยลดปริมาณขยะดังกล่าวได้แล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่นด้วย

Hudson Diphofa, Founder of Structural Poly Plastic & Project
Hudson Diphofa, Founder of Structural Poly Plastic & Project

ฮัดสัน ดิพโฟฟา ชายวัย 34 ปี จากเมืองคาเทิลฮอง สร้างธุรกิจแผ่นกระดานที่ภายนอกดูคล้ายแผ่นไม้ แต่ความจริงเป็นวัสดุที่มาจากพลาสติกรีไซเคิล โดยเริ่มมาจากการที่เขาตกงานในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และตัดสินใจสร้างงานให้ตัวเองและจ้างพนักงานอีก 2 คน มาช่วยทำงานที่มีส่วนปกป้องธรรมชาตินี้

ดิพโฟฟา บอกว่า การรีไซเคิลนั้นเป็นเรื่องที่ปลอดภัย เพื่อให้คนเราได้รักษาสิ่งแวดล้อม และสัตว์จะได้ไม่ต้องมาตายเพราะพลาสติกและขยะอื่น ๆ จากน้ำมือมนุษย์ และน้ำในเขื่อนก็จะไม่สกปรก โดยทั้งหมดคือ วิถีในการช่วยชุมชนนั่นเอง

Hudson Diphofa and a worker work on outdoor furniture made from plastic waste
Hudson Diphofa and a worker work on outdoor furniture made from plastic waste

ดิพโฟฟา เปิดเผยด้วยว่า ปัจจุบันนี้ เขาได้รับออเดอร์เป็นประจำเพื่อสั่งทำเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กลางแจ้งและอุปกรณ์สำหรับสนามเด็กเล่น

รายงานข่าวระบุว่า ประเทศแอฟริกาใต้ถือว่า เป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกในด้านการนำพลาสติกมาแปรรูปใช้ใหม่ โดยมีความสามารถในการรีไซเคิลพลาสติกได้ประมาณ 45% ของขยะประเภทนี้ที่คนในประเทศทิ้งออกมา

ที่โรงงานรีไซเคิลพลาสติก Tufflex Plastic Products ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก มีการนำพลาสติกที่คุณภาพไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสำหรับนำไปใช้ซ้ำเป็นบรรจุภัณฑ์หรือนำไปแปรรูปเป็นวัสดุอื่น ๆ มาผลิตเป็นแผ่นไม้สังเคราะห์ที่มีความทนทานและใช้งานได้ยาวนาน ซึ่งผู้สนับสนุนการรีไซเคิล กล่าวว่า วิธีนี้เป็นการยืดอายุการใช้งานพลาสติกในชีวิตประจำวันได้อย่างดี

Workers at recycling plant, South Africa
Workers at recycling plant, South Africa

รงงาน Tufflex Plastic Products อธิบายให้ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิตของคนเรากับปริมาณพลาสติกรอบตัวในปัจจุบัน

Charles Muller, Managing Director of Tufflex Plastic Products
Charles Muller, Managing Director of Tufflex Plastic Products

มูลเลอร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ตื่นนอนในแต่ละวัน คนเราต้องสัมผัสกับพลาสติกมากกว่า 100 ครั้งก่อนจะเดินทางถึงที่ทำงานด้วยซ้ำ ซึ่งมีตั้งแต่การเปิดสวิตช์ไฟ ไปจนถึงการหยิบหลอดยาสีฟันขึ้นมาบีบ และกิจกรรมอื่น ๆ ขณะที่ คนเรามักที่จะมองว่า พลาสติกคือ ตัวปัญหาของมลพิษ แต่จริง ๆ แล้ว มนุษย์ต่างหากคือคนที่สร้างมลพิษ

ที่ผ่านมา การให้ค่าตอบแทนเพื่อจูงใจให้คนหันมารีไซเคิลพลาสติกก่อให้เกิดอุตสาหกรรมอาชีพคนเก็บขยะขาย และคนกลุ่มนี้จะรวบรวมและคัดแยกขยะพลาสติกเพื่อแลกกับรายได้ แต่ด้วยการขาดระเบียบที่ชัดเจน ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปเก็บขยะพลาสติกในพื้นที่อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ย่านใกล้เคียงได้ ส่งผลให้ขยะพลาสติกต้องถูกฝังกลบหรือปะปนในขยะทั่วไป

ลูยานดา ฮลาทช์วาโย ซึ่งมีอาชีพเก็บขยะขาย บอกกับ วีโอเอ ว่า แอฟริกาใต้ยังขาดซึ่งระบบที่จะจัดการกับพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ

ฮลาทช์วาโย กล่าวว่า “ที่ประเทศแอฟริกาใต้ มีการทิ้งการขยะค่อนข้างมาก มีพลาสติกให้เราเก็บทุกที่ แต่ก็ไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะจัดการกับพลาสติกเหล่านี้อย่างไร เพื่อไม่ให้มันไปตกอยู่ในธรรมชาติ”

รายงานล่าสุดจาก OECD ระบุว่า ทั่วโลกมีการใช้งานพลาสติกมากถึง 460 ล้านเมตริกตันต่อปี โดยครึ่งหนึ่งเป็นพลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ และมีการประเมินว่า จำนวนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ภายในปี 2060 และเฉพาะในพื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราในทวีปแอฟริกา จะมีการใช้พลาสติกเพิ่มขึ้นมากถึง 6 เท่า

อย่างไรก็ตาม การรีไซเคิลพลาสติกของทั่วโลกนั้นอยู่ในอัตราส่วนเพียง 9% ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า การลดปริมาณการใช้พลาสติกโดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็น คือ สิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก

ลอร์เรน เด ค็อค จากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) กล่าวว่า แอฟริกายังขาดองค์ประกอบทั้งด้านการเงินและแรงงานในการจัดเก็บขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การรีไซเคิลจึงเป็นปัญหาพอควร และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนกับพลาสติกให้ได้

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG