ลิ้งค์เชื่อมต่อ

“สามล้อเครื่องสีชมพู” ส่งเสริมอาชีพและรายได้แก่ผู้หญิงในปากีสถาน


Pink rickshaw, a women-driven service in Pakistan.
Pink rickshaw, a women-driven service in Pakistan.

ในปากีสถาน คนขับสามล้อเครื่องผู้หญิงที่คอยให้บริการแก่ลูกค้าบนท้องถนนในชาติมุสลิมในเอเชียใต้ชาตินี้ เป็นสิ่งที่พบเห็นกันน้อยมาก จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้

สามล้อเครื่องสีชมพูที่คนขับเป็นผู้หญิง ให้บริการเฉพาะลูกค้าผู้หญิงเท่านั้น ต่างจากสามล้อเครื่องสีเขียวที่คนขับเป็นผู้ชาย ผู้หญิงในปากีสถานบ่นเสมอว่า มักถูกผู้ชายรังควานเวลาใช้บริการขนส่งสาธารณะ

ซาร์ แอสลัม (Zar Aslam) ผู้ก่อตั้งโครงการรถสามล้อเครื่องสีชมพู กล่าวว่า นอกเหนือจากจะสร้างงานเเก่ผู้หญิงยากจนเเล้ว ยังเป็นการให้บริการเเท็กซี่ที่ปลอดภัยเเก่ผู้หญิงที่ขับรถเองไม่ได้ หรือไม่มีเงินพอที่จะมีรถยนต์ส่วนตัว เธอบอกว่า ผู้หญิงเหล่านี้จะเจอกับการรังควานจากเพศตรงข้ามขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะอยู่ตลอดเวลา

แอสลัมเป็นนักอนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม เธอเกิดความคิดนี้เเละริเริ่มโครงการในปี ค.ศ. 2015 หรือเกือบ 3 ปีที่เเล้ว ในเมืองลาฮอร์ เธอบอกว่าจำนวนรถสามล้อเครื่องสีชมพูของโครงการได้เพิ่มขึ้นไปอยู่ 17 คัน ซึ่งยังน้อยอยู่

เธอกล่าวว่า เเม้ว่าโครงการนี้จะยังมีขนาดเล็กอยู่ แต่ได้ช่วยเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม ได้เปลี่ยนชีวิตของผู้หญิงที่เป็นคนขับเเละชีวิตของคนในครอบครัวของผู้หญิงเหล่านี้

ในระยะยาว โครงการนี้จะช่วยให้ผู้ชายและเด็กผู้ชายมีความคิดเห็นต่อบทบาทผู้หญิงที่เปลี่ยนไป เเละยอมรับมากขึ้นเมื่อได้เห็นคนขับรถสามล้อเครื่องผู้หญิง ซึ่งอาจจะเป็นแม่ ป้า หรือน้าอาของตนเอง

ผู้หญิงที่ได้รับการฝึกฝนเเละได้รับมอบรถสามล้อเครื่องโดยทำข้อตกลงจ่ายเงินเป็นงวดๆ เป็นผู้หญิงที่มาจากครอบครัวยากจน บางคนเคยทำงานเป็นเเม่บ้าน ในขณะที่อีกหลายคนเป็นเพียงเเรงงานรายวัน

แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการรถสามล้อเครื่องสีชมพูเเล้ว พวกเธอบอกว่ารายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์

ในตอนเเรก แรงกดดันจากทัศนคติของสมาชิกชายในครอบครัว การถูกรังควานจากคนขับสามล้อเครื่องผู้ชาย เเละเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรได้สร้างความท้อแท้เเก่คนขับสามล้อเครื่องผู้หญิงเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทัศนคติของผู้ชายเหล่านี้ได้ปรับปรุงดีขึ้น เเละไม่มีปัญหาการรังควานอีกต่อไป

เรฮานา โคซา (Rehana Kausar) คนขับสามล้อเครื่องสีชมพู กล่าวว่าครั้งหนึ่งเธอเคยถูกปรับเพราะละเมิดกฏจราจรในข้อหาที่ไม่รุนแรงนัก เเต่ไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ เจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรผู้นั้นเป็นคนจ่ายค่าปรับแทน โดยบอกว่าเห็นใจเเละต้องการช่วยเหลือ

หน่วยงานไม่หวังผลกำไร Pink Rickshaw ใช้เงินที่ได้มาจากการบริจาคจากเพื่อนเเละสมาชิกครอบครัวในการดำเนินการ บรรดาเจ้าหน้าที่บอกว่า โครงการนี้ดึงดูดผู้หญิงให้เข้าร่วม แต่ปัญหาทางการเงินยังเป็นอุปสรรคต่อการขยายโครงการในขณะนี้

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG