ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘สหรัฐฯ-ยุโรป’ นำเทรนด์ 'คนรุ่นใหม่ไร้สุข'


แฟ้ม - ชายข้ามถนนใกล้กับจัตุรัสไทม์สแควร์ที่ว่างเปล่า เมื่อ 23 มี.ค. 2020 ในนิวยอร์ก (เอพี)
แฟ้ม - ชายข้ามถนนใกล้กับจัตุรัสไทม์สแควร์ที่ว่างเปล่า เมื่อ 23 มี.ค. 2020 ในนิวยอร์ก (เอพี)

การเพิ่มขึ้นของระดับการไม่มีความสุขในหมู่คนหนุ่มสาว ได้ทำให้สหรัฐฯ และหลายประเทศในยุโรปตะวันตก ร่วงจากดัชนีความเป็นอยู่ที่ดีระดับโลก ขณะที่ประเทศกลุ่มนอร์ดิกยังครองอันดับต้น ๆ เมื่อเทียบกับนานาประเทศ ตามรายงานของรอยเตอร์

รายงานความสุขโลก หรือ World Happiness Report 2024 ซึ่งเป็นรายงานที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2012 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ชี้วัดจากพื้นฐานข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาดแกลลัพของสหรัฐฯ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยทีมที่นำโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เก็บข้อมูลการสำรวจผู้คนจาก 143 ประเทศและดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้คะแนนชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา จากระดับ 0-10 ซึ่ง 10 หมายถึงชีวิตที่ดีที่สุด

ในปีนี้ ฟินแลนด์ ยังครองแชมป์ ด้วยคะแนน 7.7 ตามมาด้วยเดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ และสวีเดน ขณะที่อัฟกานิสถาน เลบานอน อยู่ใน 2 อันดับรั้งท้าย ที่คะแนน 1.7 และ 2.7 ตามลำดับ ส่วนในกรณีของไทย อยู่ในอันดับ 58 ด้วยคะแนน 5.9

เมื่อมองในภาพกว้าง การจัดอันดับนี้มีความเชื่อมโยงไม่มากนักกับความมั่งคั่งของประเทศ แต่ปัจจัยอื่น ๆ อย่างเช่น อายุขัย ความผูกพันทางสังคม เสรีภาพส่วนบุคคล และการคอร์รัปชัน มีอิทธิพลต่อดัชนีความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละบุคคลในการสำรวจนี้ด้วย

โดยสหรัฐฯ ตกจาก 20 อันดับแรกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดอันดับมาร่วม 12 ปี มาอยู่ที่อันดับ 23 จากอันดับ 15 เมื่อปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญมาจากความรู้สึกเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของชาวอเมริกันอายุต่ำกว่า 30 ปีลดลงอย่างมากในการสำรวจล่าสุดนี้

โดยเมื่อดูการจัดอันดับความสุขในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อเมริกาอยู่ในอันดับ 10 โลก แต่สำหรับกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปีขึ้นไป อเมริกากลับร่วงไปอยู่ในอันดับ 62 โลก ซึ่งการค้นพบดังกล่าวสวนทางกับการวิจัยที่ผ่านมา ที่พบว่าความสุขของมนุษย์จะสูงสุดในวัยเด็กและช่วงต้นของวัยรุ่น ก่อนจะลดลงถึงจุดต่ำสุดในช่วงวัยกลางคน และปรับเพิ่มขึ้นในช่วงวัยเกษียณ

ในเรื่องนี้ ยาน-เอ็มมานูเอล เดอ เนฟ อาจาร์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดทำรายงานฉบับนี้ อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า “คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ เผชิญกับวิกฤตวัยกลางคนในตอนนี้” โดยคนรุ่นมิลเลนเนียลและกลุ่มที่อายุน้อยกว่านั้นในอเมริกาเหนือ มีแนวโน้มที่จะมีความเหงามากกว่ากลุ่มผู้สูงวัยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่กระทบความสุขของคนหนุ่มสาว เช่น การแบ่งแยกแบ่งขั้วทางสังคม มุมมองเชิงลบต่อสื่อสังคมออนไลน์ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนหนุ่มสาวลำบากขึ้นในการจะเป็นเจ้าของบ้านสักหลังเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน ๆ

ระหว่างที่ปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ไร้ความสุขกำลังปะทุในสหรัฐฯ ช่องว่างระหว่างวัยในด้านความเป็นอยู่ที่ดีก็ขยายวงกว้างขึ้นในแคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ ซึ่งล้วนแล้วแต่ตกจากอันดับที่เคยได้รับในดัชนีปีนี้ทั้งสิ้น

แต่ในทางกลับกัน หลายประเทศมีการพัฒนาในด้านความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมาจากอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ ในยุโรปตอนกลางและตะวันออก ซึ่งคนหนุ่มสาวในประเทศเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าคนที่อายุมากกว่า และบางประเทศดีกว่าประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกด้วย เช่น สโลเวเนีย เชชเนีย และลิทัวเนีย ที่ขยับเข้าใกล้ 20 อันดับแรกในรายงานความสุขโลกปีนี้

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG