ลิ้งค์เชื่อมต่อ

จีนเผชิญ 'ภัยแล้ง' คุกคามความมั่นคงอาหาร พลังงานและเศรษฐกิจ


Pagodas are seen on Louxingdun island that usually remain partially submerged under the water of Poyang Lake, which is facing low water levels due to a regional drought in Lushan, Jiangxi province, China.
Pagodas are seen on Louxingdun island that usually remain partially submerged under the water of Poyang Lake, which is facing low water levels due to a regional drought in Lushan, Jiangxi province, China.

จีนเผชิญภัยแล้งและคลื่นความร้อนสูงสุดเป็นสถิติใหม่ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเป็นภัยธรรมชาติร่วมกันที่ส่งผลรุนแรงและคุกคามความมั่นคงด้านอาหาร พลังงานและเศรษฐกิจของจีน

เกิดสภาพอากาศแปรปรวนรุนแรงในหลายพื้นที่ของจีนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นคลื่นความร้อนที่รุงแรงที่สุดในประเทศจีนนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บสถิติเมื่อปีค.ศ. 1961

มณฑลเสฉวนคือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเมื่อต้องเผชิญกับภัยแล้งและคลื่นความร้อนนานกว่า 70 วัน อุณหภูมิเพิ่มขึ้นแตะระดับ 43 องศาเซลเซียส ขณะที่เขตเป่ยเป้ยในนครฉงชิ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ภัยแล้งครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร ความมั่นคงด้านพลังงาน และเศรษฐกิจโดยรวม และยังส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชนที่มีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ภัยแล้งส่งแรงสะเทือนถึงการเมือง

ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่เผชิญความยากลำบากจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เพราะคลื่นความร้อนได้ปกคลุมหลายส่วนของยุโรปในช่วงฤดูร้อน ขณะที่สหรัฐฯ ก็เผชิญกับไฟป่าบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นในภาคตะวันตกของประเทศเช่นกัน

ถึงกระนั้น สำหรับจีน ดูเหมือนความแปรปรวนของธรรมชาติได้ส่งแรงสะเทือนถึงเสถียรภาพทางการเมืองด้วย

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า หน่วยงานต่าง ๆ ของจีน รวมทั้งกระทรวงการเกษตรและกิจการชนบท กระทรวงแหล่งน้ำ กระทรวงการจัดการภาวะฉุกเฉิน และสำนักงานอุตุนิยมวิทยาจีน ต่างเป็นกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นความร้อนที่มีต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร

บทความในซินหัวระบุว่า "ทางการจีนได้กระตุ้นให้มีการใช้แนวทางลดผลกระทบจากภัยแล้งเพื่อรักษาปริมาณพืชผลให้ได้ตามต้องการในปีนี้"

In this aerial photo, a community reservoir that ran nearly empty after its retaining wall started to leak and hot weather and drought conditions accelerated the loss of water is seen in Longquan village in southwestern China's Chongqing Municipality, Saturday, Aug. 20, 2022.
In this aerial photo, a community reservoir that ran nearly empty after its retaining wall started to leak and hot weather and drought conditions accelerated the loss of water is seen in Longquan village in southwestern China's Chongqing Municipality, Saturday, Aug. 20, 2022.

โกพาล เรดดี ผู้ก่อตั้งองค์กรวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม Ready for Climate กล่าวว่า ท่ามกลางปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ พรรคคอมมิวนิสต์จีนจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะเน้นจัดสรรน้ำที่มีอยู่สำหรับภาคการเกษตรหรือภาคการผลิตพลังงานมากกว่า

เรดดี กล่าวกับวีโอเอว่า "เป็นเรื่องยากที่จะตัดการใช้น้ำในภาคการเกษตร เนื่องจากการพึ่งพาตนเองด้านอาหารถือเป็นส่วนสำคัญในนโยบายของจีน ดังนั้นปัญหาขาดแคลนน้ำจึงกลายไปเป็นปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้"

ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้อธิบายว่า "สำหรับประชาชนจีนทั่วไปอาจเจอปัญหาไฟดับหรือไฟตกเป็นครั้งคราว แต่ผลกระทบที่แท้จริงคือภาคการผลิตตามโรงงานต่าง ๆ ที่อาจต้องปิดตัวลงเพราะขาดแคลนไฟฟ้า" และว่า "ปัญหาน้ำถือเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่น"

A woman walks in the Jialing river, a tributary of the Yangtze, that is approaching record-low water levels during a regional drought in Chongqing, China, Aug. 20, 2022.
A woman walks in the Jialing river, a tributary of the Yangtze, that is approaching record-low water levels during a regional drought in Chongqing, China, Aug. 20, 2022.

หวนกลับหาถ่านหิน

ที่ผ่านมา มณฑลเสฉวนพึ่งพาการผลิตพลังงานจากน้ำเป็นหลัก เนื่องจากตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแยงซีที่มีความยาว 6,300 กม. ยาวที่สุดในประเทศจีน แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังงานของเสฉวนลดลง 50% ในเดือนนี้เนื่องจากระดับน้ำที่ลดลง

ด้วยเหตุนี้ มณฑลเสฉวนและประเทศจีนได้หันไปหาพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินแทน โดยตัวเลขการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วประเทศจีนเพิ่มขึ้น 15% ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 8.16 ล้านตัน อ้างอิงจากรายงานของสื่อ Global Times

ฟิลิป แอนดรูว์ส-สปีด นักวิชาการแห่งสถาบันพลังงานศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) กล่าวกับวีโอเอว่า ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งเผชิญ

"หากไฟฟ้าดับ อุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำงานได้ ราคาสินค้าก็สูงขึ้น ดังนั้นความมั่นคงด้านพลังงานจึงถือเป็นภารกิจสำคัญอันดับต้น ๆ ของรัฐบาลทุกประเทศ" นักวิชาการผู้นี้ระบุ

ขณะที่ เอดเวิร์ด คันนิงแฮม ผู้อำนวยการโครงการพลังงานและความยั่งยืนแห่งเอเชีย ของมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ชี้ว่า ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นสำคัญของการประชุมสภาแห่งชาติครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในอีกไม่กี่สัปดาห์จากนี้

คันนิงแฮม กล่าวกับวีโอเอว่า "การประชุมสภาแห่งชาติครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความตึงเครียดอย่างไม่เคยมีมาก่อน... ขณะที่รัฐบาลส่วนท้องถิ่นต่างมุ่งสยบความปั่นป่วนในสังคม แต่ภาพโรงงานที่ต้องปิดตัวลง และทุ่งนาที่แห้งแล้ง ต่างยิ่งตอกย้ำถึงความตึงเครียดและความเดือดร้อนที่กำลังเกิดขึ้นนี้"

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG