ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ธุรกิจ: ตลาดเงินโลกผันผวน หลัง รมต.คลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณลดค่าเงินดอลลาร์


“ปัทมาวัต” เริ่มฉายตามโรงหนังทั่วอินเดียท่ามกลางการประท้วงที่ยังรุนแรง / เมลินดา เกตส์ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจน

ตลาดเงินโลกป่วน! หลัง รมต.คลังสหรัฐฯ ส่งสัญญาณลดค่าเงินดอลลาร์

หลังจากที่เมื่อวานนี้ รมต.การคลังสหรัฐฯ สตีเฟ่น มานูชิน (Steven Mnuchin) ส่งสัญญาณที่การประชุมที่เมืองดาวอสว่า ตนสนับสนุนการที่ค่าเงินดอลลาร์ลดต่ำลง ก็ได้ก่อให้เกิดความกังวลไปทั่วยุโรป ว่าสหรัฐฯ อาจกำลังใช้แนวทางที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ

โดย รมต. มนูชิน กล่าวเมื่อวันพุธว่า “หากค่าเงินดอลลาร์ต่ำลง จะเป็นผลดีต่อการค้าและโอกาสทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ” ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตกลงอยู่ในระดับเกือบต่ำสุดในรอบ 3 ปี หลังจากเริ่มลดลงตั้งแต่วันอังคาร เมื่อ ปธน.ทรัมป์ ประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าบางอย่าง ที่จะส่งผลต่อจีนและเกาหลีใต้

และในวันพฤหัสบดี ผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป นายมาริโอ ดรากี (Mario Draghi) ได้ออกมาวิจารณ์คำพูดของ รมต.คลังสหรัฐฯ ว่าเป็นคำพูดที่อาจสั่นคลอนตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของโลกได้ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ประเทศต่างๆ ไม่ควรแข่งขันกันลดค่าเงินเพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันในตลาดโลก

เมลินดา เกตส์ สนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมแก้ปัญหาความยากจน

นางเมลินดา เกตส์ ภรรยาของมหาเศรษฐี บิล เกตส์ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิ Bill and Melinda Gates Foundation ประกาศจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศจำนวน 11 คน ขึ้นมาทำหน้าที่สนับสนุนการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาความยากจนในอาฟริกา

ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย นางเมลินดา เกตส์ , อดีตรัฐมนตรีการคลังของอินโดฯ ศรี มัลยานี อินทราวตี และเศรษฐีใจบุญชาวซิมบับเว สไตร์ฟ มาสิยาวา ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากนักวิจัยทั่วโลก ในการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ เช่น หุ่นยนต์ เครื่องพิมพ์สามมิติ และเทคโนโลยีนาโน ที่จะสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาความยากจนได้

“ปัทมาวัต” เริ่มฉายตามโรงหนังทั่วอินเดียท่ามกลางการประท้วงที่ยังรุนแรง

ภาพยนตร์อื้อฉาวของอินเดีย “ปัทมาวัต” (Padmaavat) เริ่มออกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วอินเดียแล้วในวันพฤหัสบดี ท่ามกลางการประท้วงที่ยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในรัฐที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู

แม้โรงภาพยนตร์หลายแห่งต่างปฏิเสธที่จะฉายหนังเรื่องนี้เพื่อเลี่ยงปัญหา แต่ประชาชนจำนวนมากยังคงเดินทางไปชมภาพยนตร์ “ปัทมาวัต” ตามโรงหนังที่ยังกล้าฉาย ซึ่งหลายคนชื่นชมว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำออกมาได้ดีต่างกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์

“ปัทมาวัต” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างราชินีฮินดูสมัยศตวรรษที่ 14 กับผู้ปกครองชาวมุสลิม โดยเปลี่ยนชื่อมาจาก Padmavati (ปัทมาวตี) เพื่อลดการต่อต้านและเสียงตำหนิวิจารณ์

ผู้ประท้วงซึ่งเป็นชาวฮินดูหัวรุนแรงต่างไม่พอใจเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยกล่าวว่าเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์

XS
SM
MD
LG