นัยสำคัญจากการเยือนเอเชีย-แปซิฟิกของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ Ashton Carter

U.S. Secretary of Defense Ashton Carter prepares to speak about the so-called "Asia Pivot" by the U.S., at the McCain Institute at Arizona State University, April 6, 2015, in Tempe, Arizona.

นาย Ashton Carter รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐเดินทางเยือนเอเชีย-แปซิฟิกนานหนึ่งสัปดาห์เพื่อมุ่งปรับสมดุลทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ

Your browser doesn’t support HTML5

US Carter Asia Trip

นาย Ashton Carter รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯมุ่งสนับสนุนพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ขณะที่ยังยืนยันจุดยืนของสหรัฐในการปรับสมดุลทางยุทธศาสตร์ในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเพิ่มพันธมิตรทางการเมืองและทางการทหารแก่ภูมิภาคนี้ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

การเดินทางเยือนเอเชีย-แปซิฟิกของนาย Carter มีขึ้นในห้วงที่สหรัฐฯกำลังแข่งขันกับจีนที่แผ่อิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยจะรวมถึงการเดินทางเยือนกรุงโตเกียว กรุงโซลและจะแวะไปเยี่ยมศูนย์บังคับการใหญ่ U.S. Pacific Command ที่รัฐฮาวายด้วย

นาย Carter กล่าวว่าสหรัฐฯกับจีนไม่เป็นพันธมิตรกันแต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูกัน


คุณ Sheila Smith ผู้เขียนหนังสือเล่มใหม่เกี่ยวกับความเป็นศัตรูกันระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเรื่อง Intimate Rivals: Japan’s Domestic Politics and a Rising China กล่าวว่า ทางการญี่ปุ่นยังจะเน้นประเด็นการขยายอิทธิพลของจีนที่เพิ่มมากขึ้น ในช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังเตรียมสรุปแนวทางรอบใหม่ในการสานความสัมพันธ์ทางการทหารกับสหรัฐฯ

คุณ Smith กล่าวว่าจีนเป็นเพื่อนบ้านติดกับญี่ปุ่น และสหรัฐฯเองที่มีทหาร 50,000 นายประจำการในญี่ปุ่นก็เฝ้าดูการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอยู่

ขณะนี้ความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับจีนเพิ่มมากขึ้นหลังจากสองชาติขัดแย้งกันทางดินแดนในหมู่เกาะที่อยู่ในทะเลจีนตะวันออก ไม่นับความขมขื่นต่อกันและกันที่ยังไม่จางหายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

นักวิจารณ์ชี้ว่าความสัมพันธ์ทางการทหารรอบใหม่กับสหรัฐฯ อาจจะตีความได้ว่าญี่ปุ่นจะสามารถปฏิบัติการทางทหารร่วมกับสหรัฐฯได้ในกรณีจำเป็นต้องปกป้องตนเอง แต่ความยืดหยุ่นทางการทหารของสหรัฐฯกับญี่ปุ่นนี้ อาจจะทำให้เกาหลีใต้วิตกกังวลได้

คุณ Smith กล่าวว่าตนเห็นว่ารัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่าความเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ กับญี่ปุ่นเป็นเรื่องของการปกป้องทางทหารแก่ญี่ปุ่นและส่วนร่วมของญี่ปุ่นในแผนฉุกเฉินอื่นๆ ในภูมิภาคเท่านั้นโดยจะไม่แทรกแซงเกาหลีใต้

ก่อนออกเดินทาง รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่เน้นความสำคัญของการสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าระหว่างสหรัฐกับเอเชีย-แปซิฟิกหรือ Trans-Pacific Partnership ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้ากับ 11 ประเทศเอเชียอื่นๆ

นาย Carter ยังเรียกร้องให้วุฒิสภาสหรัฐฯ ให้มอบอำนาจแก่ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ในการผลักดันความสัมพันธ์ด้านการค้าเพื่อว่าผู้นำสหรัฐฯ จะสามารถลงนามในข้อตกลง Trans-Pacific Partnership ได้

นาย Carter กล่าวว่าข้อตกลงทางการค้านี้ถือได้ว่าเป็นส่วนสำคัญมากที่สุดส่วนหนึ่งในแผนปรับสมดุลทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เขากล่าวว่าข้อตกลงทางการค้านี้จะช่วยส่งเสริมการส่งออกของสหรัฐโดยตั้งไว้ที่ 123,000 ล้านดอลล่าร์ภายในสิบปีข้างหน้า และยังเตือนว่าหากสหรัฐขาดข้อตกลงทางการค้านี้ สหรัฐจะขาดโอกาสเข้าถึงตลาดเอเชียที่กำลังขยายตัวและจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงในภูมิภาค

ด้านนาย Brad Glosserman ผู้อำนวยการบริหารแห่งหน่วยงาน Think Tank Pacific-Forum ที่ศึกษาเรื่องความมั่นคงในเอเชียตั้งอยู่ที่รัฐฮาวายกล่าวว่า บรรดาผู้นำเอเชียมองว่าความสำเร็จของข้อตกลง TPP นี้เป็นกุญแจสำคัญของสหรัฐฯในการเข้าไปมีบทบาทในภูมิภาค

เขากล่าวว่าข้อตกลง TPP จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯกับเอเชีย-แปซิฟิก และสร้างความมั่นใจแก่พันธมิตรในเอเชียว่าสหรัฐฯอยู่ข้างพวกเขาและหากศัตรูจู่โจมพันธมิตรในเอเชียก็ถือว่าเป็นศัตรูของสหรัฐฯไปในตัว

แต่เขากล่าวว่าความสำเร็จของข้อตกลงทางการค้า TPP ยังจะขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นทางการเมืองของนักการเมืองในรัฐบาลสหรัฐฯเองว่าจะเต็มใจให้อำนาจแก่ผู้นำสหรัฐฯในการเจรจาและลงนามในข้อตกลงการค้านี้หรือไม่