ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประวัติชีวิตและความสำเร็จ ‘ลี กวน ยู’ อดีตนายกฯ คนแรกของสิงคโปร์ผู้ล่วงลับ


นายลี กวน ยู ปกครองสิงคโปร์ในช่วงระหว่างปี พ.ศ 2502 – 2533 รวม 31 ปี และยังถือเป็นเสาหลักทางการเมืองของสิงคโปร์จนถึงปัจจุบัน

please wait

No media source currently available

0:00 0:06:05 0:00
Direct link

FILE - Former Singapore Prime Minister Lee Kuan Yew (LKY) smiles as he attends the LKY School of Public Policy 7th anniversary dialogue session in Singapore September 14, 2011.
FILE - Former Singapore Prime Minister Lee Kuan Yew (LKY) smiles as he attends the LKY School of Public Policy 7th anniversary dialogue session in Singapore September 14, 2011.

อดีตนายกฯ สิงคโปร์ ลี กวน ยู ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในช่วงเช้าวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่น ศิริอายุรวม 91 ปี นายลี กวน ยู ปกครองสิงคโปร์ในช่วงระหว่างปี พ.ศ 2502 – 2533 รวม 31 ปี และยังถือเป็นเสาหลักทางการเมืองของสิงคโปร์จนถึงปัจจุบัน

นายลี กวน ยู หรือแฮรี่ เป็นชาวสิงคโปร์รุ่นที่สี่ บรรพบุรุษอพยพมาจากมณฑลกวางตุ้งของจีนเมื่อราว 160 ปีก่อน เขาศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ที่ประเทศอังกฤษในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้รับปริญญาด้านกฏหมายจากมหาวิทยาลัย Cambridge

ลี กวน ยู เริ่มต้นเส้นทางการเมืองในปี พ.ศ 2497 ด้วยการก่อตั้งพรรค People’s Action Party หรือ PAP และได้รับเลือกเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาในอีก 1 ปีต่อมา ในปี พ.ศ 2502 พรรค PAP ชนะเลือกตั้งได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล และนายลี กวน ยู ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คนแรกของสิงคโปร์ ต่อเนื่องมาจนถึง ปี พ.ศ 2533 รวมเวลา 31 ปีที่เขาอยู่ในตำแหน่ง

ศาสตราจารย์ Carl Thayer แห่ง University of New South Wales ในออสเตรเลีย กล่าวว่านายลี กวน ยู คือผู้นำที่ผลักดันให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย เรื่องราวความสำเร็จของสิงคโปร์ยุคใหม่ แยกไม่ออกกับเรื่องราวของนายลี กวน ยู เขาคือผู้ผลักดันสิงคโปร์จากเมืองขึ้นของอังกฤษกลายเป็นประเทศที่มีอิสรภาพ และยังปกป้องความท้าทายจากลัทธิสังคมนิยม

เป้าหมายหลักของนายกฯ ลี กวน ยู ในช่วงแรก คือการผนวกสิงคโปร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐมาเลเซีย แต่ต่อมาเกิดความขัดแย้งระหว่างตัวเขากับนายกฯ มาเลเซียในขณะนั้นคือนายอับดุล ราห์มัน ในช่วงหลังความวุ่นวายทางเชื้อชาติ ระหว่างชาวจีนกับชาวมุสลิมในมาเลเซียในปี พ.ศ 2507 – 2508 จนกระทั่งในวันที่ 9 ส.ค ปี พ.ศ 2509 นายกฯ อับดุล ราห์มัน ก็ขอให้มีการแยกประเทศ สร้างความสับสนว้าวุ่นให้กับนายกฯ ลี กวน ยู เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมา นายลี กวน ยู เชื่อในเอกภาพระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย ทั้งด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์

ในวัย 42 ปี นายกฯ ลี กวน ยู คือผู้นำเพียงหนึ่งเดียวของสิงคโปร์ เป้าหมายหลักคือการผลักดันให้สิงคโปร์เป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ โดยมีชีวิตประชาชนหลายล้านคนเป็นเดิมพัน นักวิเคราะห์เชื่อว่าความเข้มแข็งและความเป็นนักคิด นักวางแผน ของลี กวน ยู คือต้นแบบให้กับชาวสิงคโปร์ทั้งประเทศ ทำให้สิงคโปร์สามารถสร้างทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดได้ นั่นคือมนุษย์

เศรษฐกิจสิงคโปร์ภายใต้การนำของนายกฯ ลี กวน ยู เติบโตอย่างรวดเร็ว ตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ติดต่อกันกว่า 10 ปี นายกฯ ลียังมีส่วนสำคัญในการจำกัดความรูปแบบการพัฒนาที่หลายประเทศนำไปปรับใช้ จนกลายเป็น 4 เสือเอเชีย ประกอบด้วย ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

นักลงทุนทั่วโลกต่างมุ่งหน้าไปสิงคโปร์ ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางน้ำมัน การคมนาคมขนส่ง และการเงินของเอเชีย

Michael Barr นักวิเคราะห์การเมืองที่มหาวิทยาลัย Flinders ในออสเตรเลีย กล่าวว่า ลี กวน ยู ได้รวบรวมกลุ่มคนผู้มีความสามารถเพื่อช่วยกันวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวให้สิงคโปร์ ขณะที่ความเป็นผู้นำของเขา ช่วยสร้างบรรยากาศการเมืองที่สอดคล้องกลมกลืน

แต่ความเข้มแข็งเด็ดขาดของนายลี กวน ยู ก็ได้ทำให้เกิดลัทธิอำนาจนิยมขึ้น คือรัฐบาลสิงคโปร์มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการลงโทษผู้ที่ไม่เห็นด้วยหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นำไปสู่การจับกุมคุมขังนักการเมืองฝ่ายค้าน นักรณรงค์ และผู้นำสหภาพแรงงานต่างๆจำนวนมาก

นายลี กวน ยู กล่าวว่าใครก็ตามที่ปกครองสิงคโปร์ต้องมีความเข้มแข็งเด็ดขาด เพราะนี่ไม่ใช่เกมแต่เป็นชีวิตจริง ดังนั้นในช่วงที่ตนยังอยู่ในอำนาจ จะไม่มีใครล้มล้างสิ่งที่ตนให้เวลาทั้งชีวิตสร้างขึ้นมาได้

ปัจจุบัน สิงคโปร์ยังคงเป็นประเทศที่ควบคุมการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะอย่างเข้มงวด เมื่อปีที่แล้วหน่วยงาน Reporters Without Borders จัดอันดับเสรีภาพสื่อในสิงคโปร์ให้อยู่ในระดับต่ำสุดในกลุ่มประเทศแถบอาเซียน เป็นรองทั้งพม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย

รายงานจากผู้สื่อข่าว Ron Corben / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล

XS
SM
MD
LG