ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์ผู้นำสหรัฐฯกับความสัมพันธ์ระดับบุคคลแบบวางตัวอยู่ในกรอบและรอบคอบในการแสดงอารมณ์


President Barack Obama and Israeli Prime Minister Benjamin Netanyahu shake hands during their meeting in the Oval Office of the White House in Washington.
President Barack Obama and Israeli Prime Minister Benjamin Netanyahu shake hands during their meeting in the Oval Office of the White House in Washington.

นักวิเคราะห์บอกว่าประธานาธิบดีโอบามามักรักษาระยะห่าง เข้าถึงยากกว่า และไม่แสดงอารมณ์เท่ากับประธานาธิบดีสหรัฐคนอื่นๆ อีกหลายคน

please wait

No media source currently available

0:00 0:04:16 0:00
Direct link

นโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีโอบามากับอิสราเอลถูกพูดถึงมากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลายครั้งผู้สังเกตการณ์มองว่าอเมริกากับอิสราเอลที่เป็นมิตรกันมานานกำลังเข้าช่วงความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น

เสียงวิจารณ์ลักษณะนั้นมุ่งเป้าไปที่ทำเนียบขาวและบุคลิกของประธานาธิบดีโอบามา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวต่อสภาอเมริกันในฐานะแขกของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเขาใช้โอกาสนั้นพูดตำหนิความพยายามของสหรัฐในการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน

ผู้นำอิสราเอลกล่าวว่าอเมริกาไม่แข็งขันพอในการกดดันอิหร่าน นั่นเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจดจำสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิสราเอล

หนึ่งในนั้นคือ Aaron David Miller อดีตที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศด้านตะวันออกกลาง สมัยที่ George W Bush เป็นประธานาธิบดี เขากล่าวว่า ประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตีเนทันยาฮู ไม่ใช่คู่ผู้นำสหรัฐและอิสราเอลคู่แรกที่มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่น แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นคู่แรกที่ไม่สามารถจะก้าวข้ามผ่านปัญหาและกลับมาสานต่อมิตรภาพที่มีประสิทธิภาพได้

Aaron David Miller วิเคราะห์ว่า ปัญหาความสัมพันธ์ของผู้นำคู่นี้น่าจะมาจากบุคลิกที่แตกต่างกัน สภาพการเมืองที่ไม่เหมือนกัน และนโยบายที่ไปกันคนละทาง ซึ่งเขาเรียกว่าเป็นส่วนผสมที่สมบูรณ์แบบสำหรับพายุแห่งความสัมพันธ์

อดีตที่ปรึกษากระทรวงต่างประเทศผู้นี้กล่าวด้วยว่า ส่วนผสมที่ไม่เข้ากันของประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู นำมาสู่ช่วงที่เลวร้ายที่สุดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและอิสราเอลในประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบัน

นักวิเคราะห์อีกผู้หนึ่ง Matthew Dallek อาจารย์ที่มหาวิทยาลัย George Washington กล่าวว่า ถ้าสมมุติว่าผู้นำทั้งสองมีความสนิทสนมส่วนตัวกันดีกว่านี้ ความสัมพันธ์ระหว่างประธานาธิบดีโอบามาและนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูคงจะไม่อ่อนแอขนาดนี้ในตอนนี้

นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ความเป็นเพื่อนกันระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐกับหมู่ผู้นำโลกอื่นๆ เป็นปัจจัยสำคัญของนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในยามวิกฤต

เขาบอกว่าตนไม่อยากพูดกว่าเกินความจริงเรื่องความสำคัญในระดับบุคคลระหว่างผู้นำโลก เพราะบางทีมันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาประสานความแตกต่างด้านนโยบายได้ แต่ต้องยอมรับว่า หากผู้นำประเทศต่างๆ ต้องคุยเรื่องหนักๆ กัน ความเป็นเพื่อนกันในระดับบุคคลสามารถเปลี่ยนสถานการณ์ไปในทางที่ดีขึ้นได้

อาจารย์ Matthew Dallek กล่าวด้วยว่าประธานาธิบดีโอบามามีแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างจะวางตัวอยู่ในกรอบและรอบคอบในการแสดงอารมณ์

ในช่วง 6 ปีที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ประธานาธิบดีโอบามา ไม่ได้เป็นที่รู้จักในเรื่องการสร้างเพื่อนสนิทที่เป็นผู้นำโลกด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเขากับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด แคมเมรอน จะสนิทสนมกัน ระดับที่ผู้นำสหรัฐเรียกนายกฯ แคมเมรอน ว่า “bro” ซึ่งเป็นคำสั้นๆ ของ brother หรือในที่นี้ก็คือคำว่า “น้องชาย” เพราะประธานาธิบดีโอบามาอายุมากกว่า 5 ปี

แต่สำหรับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Bibi ประธานาธิบดีโอบามาเคยพูดถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่ว่าเป็นแบบติดต่อกันเรื่องธุระและกิจการของประเทศ ซึ่งที่จริงความสนิทกันในระดับบุคคลของทั้งคู่ก็เป็นไปในทำนองนั้น

Aaron David Miller อดีตที่ปรึกษาของกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ บอกว่าผู้นำโลกที่ประสบความสำเร็จจะเป็นคนที่รักเกมการเมืองและรักที่จะติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น

เขาบอกว่า เวลาที่ประธานาธิบดีโอบามาต้องการสร้างความสัมพันธ์กับใคร เขาสามารถทำได้ดีทีเดียว คำถามคือผู้นำสหรัฐผู้นี้ชอบที่จะเข้าหาคนอื่นหรือไม่ ซึ่งนักวิเคราะห์ผู้นี้บอกว่า ประธานาธิบดีโอบามามักรักษาระยะห่าง เข้าถึงยากกว่า และไม่แสดงอารมณ์เท่ากับประธานาธิบดีสหรัฐคนอื่นๆ บางคน

รายงานโดย Aru Pande และเรียบเรียงโดยรัตพล อ่อนสนิท ท่านสามารถฟังรายละเอียดของข่าวชิ้นนี้จากคลิปรายการข่าวสดสายตรงจากวีโอเอ

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG