ลิ้งค์เชื่อมต่อ

'ยูเนสโก' เร่งเร้ารัฐบาลทั่วโลกจัดการน้ำอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม


FILE - A worker fills a truck with water pumped from one of the canals being built to divert water from the Sao Francisco river for use in four drought-plagued states, near the city of Mauriti, Ceara state, Brazil, Jan. 28, 2014.
FILE - A worker fills a truck with water pumped from one of the canals being built to divert water from the Sao Francisco river for use in four drought-plagued states, near the city of Mauriti, Ceara state, Brazil, Jan. 28, 2014.

ยูเนสโกชี้ว่าแหล่งน้ำของโลกได้รับผลกระทบจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นเเละการพัฒนา

ยูเนสโก (UNESCO) ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การเปลี่ยนแปลงด้านลักษณะการบริโภคเเละการพัฒนา กำลังส่งผลกระทบต่อแหล่งทรัพยากรน้ำของโลก เเละรัฐบาลในประเทศต่างๆ จำเป็นต้องใช้วิธีการจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอเเก่ความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวแทนของยูเนสโกได้นำเสนอผลการศึกษานี้ในที่ประชุมระดับโลกเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศบราซิลเมื่อเร็วๆ นี้

ความต้องการใช้น้ำกำลังเพิ่มขึ้นราว 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศของโลก ปัญหามลพิษทางสิ่งเเวดล้อม เเละการกัดกร่อนของหน้าดิน ได้คุกคามคุณภาพของน้ำเเละปริมาณน้ำที่มีอยู่

แต่มาจนถึงขณะนี้ ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ทั่วโลกยังพึ่งพาระบบจัดการน้ำเเบบดั้งเดิมที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ อาทิ ฝายกั้นน้ำ ระบบชลประทาน เเละโรงกำจัดน้ำเสีย

การศึกษาของยูเนสโก ชี้ว่า โครงสร้างและลักษณะตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ อาทิ พื้นที่ลุ่มน้ำ สวนในเขตเมืองเเละการเกษตรเเบบยั่งยืน มีประโยชน์ในการช่วยจัดการแหล่งน้ำอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อม เเต่กลับพบว่ามีการใส่ใจหรือนำไปใช้ประโยชน์น้อยมาก

สเตฟาน อูเลนบรูค (Stefan Uhlenbrook) ผู้ประสานงานโครงการประเมินน้ำโลกแห่งยูเนสโก (UNESCO's World Water Assessment Program) ชี้ว่า “ทางออกสีเขียว” หลายอย่าง สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการจัดการน้ำ เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพของการจัดการน้ำเเล้ว ยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมเเละความแห้งเเล้งได้ ช่วยปรับปรุงการเข้าถึงเเหล่งน้ำ

เขายังชี้ถึงผลดีหลายอย่างของมาตรการเหล่านี้ต่อด้านอื่นๆอีกด้วย นอกเหนือไปจากแหล่งทรัพยากรน้ำ อาทิ ช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอน ช่วยสร้างงานโดยเฉพาะในเขตชนบท และยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีววิทยา ซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน

ยูเนสโกชี้ว่า จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างวิธีการจัดการน้ำเเบบดั้งเดิมซึ่งเป็นระบบที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ กับการจัดการน้ำที่พึ่งธรรมชาติ

และในอีกหลายประเทศ เริ่มมีสร้างความสมดุลนี้กันเเล้ว เช่น นครนิวยอร์ค สามารถประหยัดเงินได้ปีละหลายร้อยล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียเเละการบำรุงรักษาด้วยการปกป้องพื้นที่ลุ่มน้ำตามธรรมชาติที่กินพื้นที่มหาศาล และจีนวางแผนที่จะสร้างโครงการนำร่อง ที่นำน้ำฝนมาหมุนเวียนใช้ในการบริโภคของคนในเขตเมือง

นอกจากนี้ ในหลายๆ ประเทศ กำลังมีการสร้างพื้นที่ลุ่มน้ำเทียมขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำท่วมเเละมลพิษ อาทิ ในรัฐราชสถานของอินเดีย ทางการท้องถิ่นได้นำมาตรการจัดการดินเเละน้ำอย่างยั่งยืนหลายมาตรการไปใช้ส่งเสริมปริมาณผลผลิตทางการเกษตร เเละเพื่อรับมือกับปัญหาภัยเเล้ง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต

อูเลนบรูค ผู้ประสานงานโครงการประเมินน้ำโลกแห่งยูเนสโกกล่าวว่า ขั้นตอนเหล่านี้มีความสำคัญ เขากล่าวว่าเราจำเป็นต้องปลูกพืชอาหารเพิ่มขึ้นอีกราว 50 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 30 – 40 ปีข้างหน้า โดยต้องหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าเเละจำกัดการพัฒนาที่ดินลง ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ในหลายประเทศทั่วโลก

บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า วิธีการจัดการน้ำอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมจะมีส่วนช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรขึ้นได้ราว 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการปลูกอาหารให้เพียงพอแก่ความต้องการของประชากรโลก ที่คาดว่าจะเพิ่มไปอยู่ที่เกือบ 10,000 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า

(ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG