วันเเห่งการยุติการเลือกปฏิบัติเเละการเเบ่งเเยกเชื้อชาติสากล ตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี
เเละในวันนี้เมื่อปี ค.ศ. 1960 หรือเมื่อ 58 ปีที่แล้ว ตำรวจได้ยิงเข้าใส่ฝูงชนที่เดินขบวนอย่างสงบ ต่อต้านการผ่านกฏหมายเเบ่งเเยกสีผิวที่เมือง Sharpeville ในประเทศแอฟริกาใต้ จนทำให้มีคนเสียชีวิต 69 คน
6 ปีถัดมาหลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางองค์การสหประชาชาติได้ตั้งวันนี้ขึ้นมา เพื่อเรียกร้องให้ชุมชนสากลทั่วโลกเพิ่มความพยายามเป็นเท่าตัวในการกำจัดการรังเกียจทางสีผิวทุกรูปแบบ
การเปิดตัวโครงการรณรงค์ต่อต้านการเเบ่งเเยกสีผิวของยูเนสโกนี้มีขึ้นที่เมืองบอร์กโดซ์ในฝรั่งเศส ซึ่งบนป้ายบิลบอร์ดมีภาพใบหน้าของคนทั้งเด็กเเละผู้สูงวัย ชายเเละหญิงจากหลากหลายเชื้อชาติ เพื่อมุ่งให้คนอ่านคิดทบทวนว่าตนเองเป็นใครเเละความลำเอียงทางสีผิวของตน
แมกนัส แมกนัสสัน (Magnus Magnusson) ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือเเละการรณรงค์ที่ฝ่ายสังคมเเละมนุษย์ที่องค์การยูเนสโก กล่าวว่า เขาหวังว่าเมื่อคนเดินผ่านป้าย คนอาจฉุกคิดขึ้นได้ว่าตนเองหรือคนที่อยู่บนป้ายเเตกต่างกันหรือไม่
เขากล่าวว่า นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความตื่นตัวของคนเเต่ละคนถึงภาพลักษณ์ที่มีทัศนคติไม่ดีต่อคนอื่น ซึ่งอาจเเสดงถึงการรังเกียจทางเชื้อชาติ เเละเเต่ละคนจะต้องแก้ไขความคิดทางลบต่อคนที่ต่างสีผิวนี้ด้วยตัวเอง
การเปิดตัวโครงการรณรงค์นี้มีขึ้นในช่วงที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าความรังเกียจทางเชื้อชาติเพิ่มขึ้น ทั้งในการกีฬาเเละบนสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนในการเมือง
โครงการนี้มีขึ้นหลังการยิงสังหารหมู่ในเมืองไคร์ทเชิร์ช ประเทศนิวซีเเลนด์ ซึ่งชายมือปืนประกาศตนว่ามีเเนวคิดชาตินิยมของคนผิวขาว เขาได้ยิงกราดใส่ชาวมุสลิมที่มัสยิดสองแห่ง มีคนเสียชีวิต 50 ราย ผู้ต้องหาถูกจับกุมในข้อหาฆาตกรรม
บรรดาผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า คนต่างชาติย้ายถิ่นเป็นหนึ่งในปัจจัยของการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์เหยียดเชื้อชาติ เช่นเดียวกับอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ในการเผยแผ่ความคิดรังเกียจคนต่างเชื้อชาติ
บรรดานักกิจกรรมกำลังต่อต้านเรื่องนี้ กัสปาร์ด นจอค (Gaspard Njock) ศิลปินชาวแคมเมอรูนกำลังใช้ปากกาในการต่อต้านการเหยียดสีผิว เขาเป็นนักเขียนหนังสือการ์ตูนเเละนวนิยายเเนวกราฟฟิกที่ขายในร้านหนังสือทั่วฝรั่งเศส
เขากล่าวว่า การ์ตูนอาจใช้เป็นเครื่องมือทรงพลังในการต่อสู้กับการเหยียดเชื้อชาติสีผิว เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงคนทุกประเภทเเละอาจเสนอเรื่องราวสำคัญๆ ได้หลากหลาย
นวนิยายแนวกราฟฟิกเรื่องหนึ่งของเขาคือ Un voyage Sans Retour เป็นเรื่องราวของการเดินทางย้ายถิ่นที่เเสนอันตรายของคนจากแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราเพื่อเข้าไปในยุโรป
เขากล่าวว่าไม่เคยมองว่าตนเองตกเป็นเหยื่อของการรังเกียจทางเชื้อชาติ ไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่เคยประสบกับปัญหานี้ เเต่เพราะว่าเขามีวิธีรับมือกับเรื่องนี้
แมกนัสสันแห่งยูเนสโก กล่าวว่า การศึกษาเป็นกุญเเจสำคัญในการกำจัดการเหยียดเชื้อชาติ เช่นเดียวกับการตระหนักมากขึ้นว่าเรากำลังคิดอะไรและรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความเเตกต่างทางเชื้อชาติเเละสีผิว