ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยสหรัฐฯ พบว่า 'การบำบัดความเครียด' จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิด 'โรคหัวใจ'


stress
stress

ทีมนักวิจัยในสหรัฐฯ ค้นพบเป็นครั้งเเรกว่ามีความเกี่ยวข้องทางชีววิทยาระหว่างความเครียดกับโรคหัวใจ

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:13 0:00

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด ในรัฐเเมสสาชูเส็ทส์ ได้ค้นพบว่าส่วนหนึ่งของสมองที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ที่มีขนาดเท่ากับเมล็ดอัลมอนด์อยู่ในสมองส่วนกลาง และมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ จะทำงานมากกว่าปกติในคนที่เจ็บป่วยด้วยอาการเครียดเรื้อรัง

ทีมนักวิจัยมีข้อมูลยืนยันว่าการทำงานที่มากขึ้นของอมิกดาลา มีผลไปกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิต้านทานในร่างกายที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ

Dr. Ahmed Tawakol ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ร่วมกับนักวิจัยที่โรงพยาบาลเเมสสาชูเส็ทส์และคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เป็นหัวหน้าผู้ร่างรายงานผลการศึกษานี้

เขากล่าวว่า อมิกดาลาเป็นส่วนหนึ่งของสมองที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นหรือสิ่งคุกคามจากภายนอก และทำงานมากกว่าปกติในคนที่มีปัญหาด้านความเครียดทางอารมณ์ เเม้เเต่ในขณะพักผ่อน

ทีมนักวิจัยศึกษาภาพถ่ายเอ็กซเรย์สมองของผู้เข้าร่วมการศึกษาเกือบ 300 คน ทีมนักวิจัยได้ติดตามดูสุขภาพของคนทั้งหมดนี้ตลอดระยะเวลา 5 ปี เพื่อดูว่าจะมีกี่คนที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ

และในช่วงของการติดตามดูสุขภาพนี้ Dr. Tawakol กล่าวว่า ผู้อยู่ในการศึกษาอย่างน้อย 22 คนล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายและโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน

Dr. Tawakol ชี้ว่า หากภาพถ่ายสมองของผู้อยู่ในการศึกษาคนใด เเสดงให้เห็นว่าอมิกดาลาทำงานมากขึ้น ทีมนักวิจัยจะสามารถคาดเดาได้ว่าผู้ป่วยคนนั้นจะระดับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ระดับการทำงานที่มากขึ้นของอมิกดาลา ยังสามารถบอกได้ด้วยว่าผู้ป่วยคนนั้นจะป่วยด้วยโรคหัวใจเร็วกว่าคนที่อมิกดาลาทำงานในระดับน้อยกว่าอีกด้วย

ทีมนักวิจัยยังพบด้วยว่าคนที่มีระดับการทำงานของอมิกดาลาสูง หรือคนที่มีระดับความเครียดสูง จะมีระดับของอาการอักเสบที่พบในกระเเสเลือดที่สูงที่สุดในบรรดาผู้ป่วยทั้งหมด และอาการอักเสบในผนังของเส้นเลือดนี้อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บรรดาเเพทย์รู้กันดีมานานเเล้วว่าคนที่มีความเครียดสูงกว่าปกติ มักจะล้มป่วยด้วยอาการหัวใจวายหรือเส้นเลือดในสมองเเตกในเวลาต่อมา นอกจากนี้การศึกษาแบบที่เฝ้าติดตามอีกหลายชิ้น ได้แสดงให้เห็นว่า ความเครียดน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคหัวใจ เช่นเดียวกับ ความดันโลหิตสูงเเละการสูบบุหรี่

ตอนนี้สาเหตุของความเกี่ยวข้องระหว่างความเครียดและโรคหัวใจยังไม่ชัดเจน แต่ผลการศึกษานี้เป็นผลการศึกษาชิ้นเเรกที่ระบุว่า มีความเกี่ยวข้องทางชีววิทยาระหว่างความเครียดเเละโรคหัวใจ

ผลการศึกษานี้ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ไปเมื่อไม่นานมานี้

(รายงานโดย Jessica Berman / เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทย)

XS
SM
MD
LG