ลิ้งค์เชื่อมต่อ

"ลูกแพร์ vs ลูกแอปเปิ้ล" ผลศึกษาระบุลักษณะรอบเอวบ่งบอกโอกาสเกิดโรคได้


ผลการศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่าขนาดรอบเอวน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงโอกาสการเกิดโรคหัวใจได้ดีกว่าดัชนีมวลกายหรือ BMI

please wait

No media source currently available

0:00 0:03:41 0:00
Direct link

ในการประชุมทางวิทยาศาสตร์ประจำปี 2016 ที่มหาวิทยาลัย American College of Cardiology ที่จัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์ด้านโรคหัวใจ Intermountain Medical Center Heart Institute ในเมือง Salt Lake City กับโรงพยาบาล Johns Hopkins Hospital ในเมือง Baltimore เปิดเผยว่า

การมีรูปร่างเหมือนลูกแอปเปิ้ลหรือมีไขมันรอบเอวหนา เป็นตัวชี้ถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจร้ายแรงในผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 ที่ยังไม่แสดงอาการของโรคหัวใจ

ส่วนการมีรูปร่างเหมือนลูกแพร์ คือมีไขมันในบริเวณสะโพกมากไม่เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะเกิดโรคหัวใจ

ทีมนักวิจัยทีมนี้ชี้ว่าคนที่มีรูปร่างเหมือนลูกแอปเปิ้ล มักเริ่มมีระดับความดันโลหิตสูง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และมีไขมันคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ตลอดจนเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจและหัวใจล้มเหลว

รายงานชี้ว่า การสั่งสมเพิ่มขึ้นของไขมันในบริเวณรอบเอวอาจจะเกิดจากความบกพร่องในระบบเผาผลาญอาหารในร่างกาย

ด็อกเตอร์ Brent Muhlestein หัวหน้าการวิจัยจากสถาบันการแพทย์ด้านโรคหัวใจ Intermountain Medical Center Heart Institute ในเมือง Salt Lake City กล่าวว่า การศึกษานี้ช่วยยืนยันว่าการมีรูปร่างเหมือนลูกแอปเปิ้ล หรือการมีขนาดรอบเอวที่ใหญ่ อาจนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและการลดขนาดรอบเอวลงจะช่วยลดความเสี่ยงนี้ลงได้

ในการศึกษานี้ นักวิจัยศึกษาผู้ป่วยเบาหวานทั้งชายและหญิง 200 คนซึ่งไม่เเสดงอาการที่ส่อว่าเป็นโรคหัวใจ

ผู้ป่วยเบาหวานในการศึกษาเข้ารับการตรวจร่างกายแบบ CT สแกน เพื่อวัดระดับการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจที่ปั้มเลือดที่มีอ็อกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย การทำงานที่ด้อยกว่าปกติของหัวใจห้องล่างซ้ายนี้ จะทำให้เลือดคั่งในบริเวณปอดทั้่งสองข้างและในขา มักนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลวและเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวายฉับพลัน

ผลการศึกษาวิจัยที่พบนี้ชี้ว่า ไขมันรอบเอวที่หนาขึ้นเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นกับการทำงานที่ไม่ปกติของหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งเป็นสาเหตุทั่วไปของโรคหัวใจ รวมทั้งหัวใจวาย โดยการศึกษานี้ไม่นำเอาระดับดัชนีมวลกายเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย

ด็อกเตอร์ Brent Muhlestein กล่าวว่าทีมนักวิจัยของเขายังศึกษาผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยเเล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ และพบว่ารูปร่างของคนเราเป็นตัวช่วยยืนยันได้ว่าคุณเสี่ยงที่จะเกิดอาการหัวใจห้องล่างซ้ายทำงานบกพร่อง

ทีมนักวิจัยเปิดเผยเพิ่มเติมว่าคนอย่างน้อย 1 ใน 3 คนทั่วโลกจะเป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โดย 1 ใน 3 ของคนเหล่านี้จะเสียชีวิตจากหัวใจวาย หรือจากความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจก่อนหน้าที่จะได้รับการวินิจฉัยโรค

ด้านด็อกเตอร์ Boaz D. Rosen แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาล Johns Hopkins Hospital กล่าวว่า ทีมวิจัยพบว่าขนาดของรอบเอวเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุด ถึงความผิดปกติของการทำงานของหัวใจห้องล่างซ้าย ดีกว่าน้ำหนักตัวหรือดัชนีมวลกายเสียอีก

ด็อกเตอร์ Rosen กล่าวว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อดูว่าผู้ป่วยในการศึกษาครั้งนี้เกิดความเสี่ยงที่จะพัฒนาเป็นโรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคหัวใจอื่นๆ จริงตามที่คาดคิดหรือไม่

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG