ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำเกาหลีใต้เตรียมหารือผู้นำสหรัฐฯ เพื่อกอบกู้การประชุมสุดยอดกับเกาหลีเหนือ


ประธานาธิบดีมูน แจ อิน ของเกาหลีใต้ มีกำหนดพบหารือกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ใ นวันอังคารนี้ และคาดว่าประเด็นเรื่องกำหนดการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ที่สิงคโปร์ในเดือนหน้าจะเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญของการหารือนี้

ก่อนหน้านี้ ระหว่างการพบปะระหว่างผู้นำของเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีมูน แจ อิน สามารถทำให้นายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ให้คำมั่นเรื่องความตั้งใจที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งก็เป็นการปูทางสำหรับการพบปะระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ กับนายคิม จอง อึน ที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ผู้มีนโยบายแข็งกร้าว เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ที่เรียกร้องให้เกาหลีเหนือต้องลดอาวุธนิวเคลียร์แต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นผลให้ท่าทีของเกาหลีเหนือเปลี่ยนไปจนถึงขั้นยกเลิกการหารือเพิ่มเติมกับเกาหลีใต้

และขู่ว่าจะถอนตัวจากการพบปะระดับสุดยอดกับผู้นำสหรัฐฯ ที่สิงคโปร์ด้วย

แต่ในส่วนของสหรัฐฯ เองนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ได้พยายามสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเกาหลีเหนือว่า การลดอาวุธนิวเคลียร์จะไม่ทำให้ระบอบการปกครองของนายคิม จอง อึน ต้องอ่อนแอลง แต่จะยิ่งช่วยให้เข้มแข็งมากขึ้น

ประธานาธิบดีทรัมป์ถึงกับกล่าวด้วยว่า นายคิม จอง อึน จะยังสามารถปกครองประเทศได้ต่อไป โดยเกาหลีเหนือจะมีฐานะที่ร่ำรวยขึ้นด้วย

ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญซึ่งเป็นที่ขัดแย้งกันขณะนี้ คือคำจำกัดความรวมทั้งรูปแบบของคำว่า Denuclearization หรือ การลดอาวุธนิวเคลียร์

เพราะขณะที่สหรัฐฯ มีจุดยืนว่าเกาหลีเหนือจะต้องยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนอย่างสมบูรณ์ ก่อนที่สหรัฐฯ จะผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลเปียงยางต้องการให้กระบวนการลดอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจทีละขั้นตอน

นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯ ยังต้องการให้เกาหลีเหนือยกเลิกโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เกาหลีเหนือเองก็ต้องการให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากคาบสมุทรเกาหลีและลดขีดความสามารถต้านนิวเคลียร์ของตนลงด้วย

นาย บรูซ คลิงเนอร์ นักวิจัยอาวุโสของ Heritage Foundation ตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์ขณะนี้คือการมีผู้นำของสามประเทศ ที่ต่างคนต่างเชื่อว่าตนเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์อยู่

เหมือนกับรถยนต์สามคันที่กำลังเร่งความเร็วเข้าสู่ทางแยก โดยทุกคนเชื่อว่าตนมีสิทธิ์บนเส้นทางอย่างถูกต้อง และฝ่ายอื่นจะต้องชะลอหรือเปิดทางให้

ส่วนคุณสก๊อต ซไนเดอร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษานโยบายสหรัฐฯ - เกาหลี ของ Council on Foreign Relations ก็ชี้ว่า ความเสี่ยงของการพบปะระดับสุดยอดก่อนที่จะสามารถทำความตกลงในรายละเอียดได้นั้น คือโอกาสที่การพบปะระดับผู้นำอาจล้มเหลวหรือถูกบ่อนทำลายได้ จากกลุ่มคนที่ต่อต้านแนวทางด้านการทูตในทั้งสองประเทศ

เมื่อวันศุกร์ กลุ่มอนุรักษ์นิยมชาวเกาหลีใต้ชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงโซล คัดค้านการทำข้อตกลงสันติภาพกับเกาหลีเหนือ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่เชื่อว่าจะสามารถไว้วางใจเกาหลีเหนือได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่สนับสนุนความพยายามทางการทูตของประธานาธิบดีมูน แจ อิน ที่จะช่วยให้เปียงยางเจรจาเพื่อลดอาวุธนิวเคลียร์ และปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองเกาหลี

XS
SM
MD
LG