ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหรัฐฯ สกัดเครื่องบินทิ้งระเบิดรัสเซียใกล้อลาสกา ยันไม่ใช่ภัยคุกคาม


Russian Tu-95MS strategic bomber performs a flight over the neutral waters of the Bering Sea
Russian Tu-95MS strategic bomber performs a flight over the neutral waters of the Bering Sea

สหรัฐฯ เข้าสกัดเครื่องบินทิ้งระเบิดเชิงยุทธศาสตร์และเครื่องบินขับไล่ของรัสเซีย ที่บินเหนือเขตน่านฟ้าสากลใกล้กับรัฐอลาสกา ตามการเปิดเผยของกองบัญชาการเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศภาคพื้นอเมริกาเหนือ (North American Aerospace Defense Command – NORAD)

ทางสหรัฐฯ และแคนาดา ระบุเมื่อวันอังคารด้วยว่า ตรวจพบเครื่องบินดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ ซึ่งยังไม่เข้าถึงเขตน่านฟ้าสหรัฐฯ หรือแคนาดา และไม่เป็นภัยคุกคามแต่อย่างใด และเหตุดังกล่าวไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์ตึงเครียดเกี่ยวกับสงครามยูเครน นอกจากนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวพันกับวัตถุทางอากาศที่สหรัฐฯ ยิงตกไปในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ด้วย

กองบัญชาการเพื่อการป้องกันตนเองทางอากาศภาคพื้นอเมริกาเหนือ หรือ NORAD ได้คาดว่าจะมีกิจกรรมของทางรัสเซียเกิดขึ้น และส่งเครื่องบิน F-16 ของ NORAD จำนวน 2 ลำได้เข้าสกัดอากาศยานของรัสเซีย

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ จะทำปฏิบัติการตรวจตราเฝ้าระวังที่ไม่ล่วงล้ำไปยังน่านฟ้าของประเทศอื่น ๆ และการบินลักษณะดังกล่าวเป็นเรื่องปกติสำหรับปฏิบัติการด้านการทหาร ซึ่งในแถลงการณ์ของ NORAD เสริมว่า “NORAD จับตาการเคลื่อนไหวของอากาศยานจากต่างประเทศและบินประกบเครื่องบินเหล่านั้นหากจำเป็น”

ด้านรัสเซียระบุในวันพุธว่า ได้ทำการบินเหนือน่านน้ำสากลในช่วงไม่กี่วันมานี้ รวมทั้งที่ทะเลแบริง ซึ่งอยู่ระหว่างรัสเซีย กับรัฐอลาสกาของสหรัฐฯ โดยระบุว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดและขีปนาวุธรัสเซีย Tu-95MS บินเหนือทะเลเบริง ร่วมกับเครื่องบินขับไล่ Su-30 และทำการบินในรูปแบบนี้ทางตอนเหนือของนอร์เวย์และบริเวณน่านน้ำสากลทางตะวันออกไกลของรัสเซียเช่นกัน แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเครื่องบินเหล่านั้นถูกสกัดด้วยหรือไม่

ขณะที่ เมื่อวันจันทร์ แถลงการณ์จากกระทรวงกลาโหมเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า เครื่องบินขับไล่ F-35 บินสกัดเครื่องบินกองทัพรัสเซีย 3 ลำที่บินเหนือโปแลนด์และบินประกบเครื่องบินเหล่านี้ออกจากน่านฟ้า

หน่วยงานความมั่นคงอเมริกาเหนือตื่นตัวอย่างมากหลังการพบบอลลูนสอดแนมเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ และทางกองทัพสหรัฐฯ ตัดสินใจยิงบอลลูนรวมทั้งวัตถุทางอากาศปริศนาอีก 3 ชิ้นตกในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG