ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผู้นำจี-7 ประกาศเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซีย - สนับสนุนยูเครนในระยะยาว


Germany G7 Summit
Germany G7 Summit

สหรัฐฯ และชาติตะวันตก ประกาศมาตรการลงโทษต่อรัสเซียเพิ่มเติมในวันจันทร์ ซึ่งรวมถึงการห้ามส่งออกวัตถุดิบและบริการให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของรัสเซีย การคว่ำบาตรบริษัทและองค์กรวิจัยด้านการทหารของรัฐบาลกรุงมอสโก และการห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย

ทำเนียบขาวประกาศด้วยว่า จะมอบเงินทุนระยะสั้นมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G-7 ในการช่วยเหลือยูเครน

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดราคาน้ำมันขั้นสูงสุดเพื่อลดแหล่งรายได้ของประธานาธิบดีปูติน พร้อมไปกับการทำให้ราคาน้ำมันโลกลดต่ำลงด้วย

คำประกาศนี้มีขึ้นในขณะที่บรรดาผู้นำประเทศกลุ่ม G-7 ร่วมประชุมกันที่เยอรมนีในวันจันทร์ และมีการหารือทางไกลผ่านวิดีโอออนไลน์กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนด้วย โดยผู้นำยูเครนได้ร้องขออาวุธเพิ่มเติม รวมทั้งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ เพื่อต้านทานการโจมตีของกองทัพรัสเซีย

แถลงการณ์ของที่ประชุม G-7 ในวันจันทร์ ส่งสัญญาณว่า ประเทศสมาชิกพร้อมที่จะยืนหยัดสนับสนุนยูเครนในระยะยาว โดยระบุว่า "เราจะยังคงจัดหาความช่วยเหลือทางการเงิน มนุษยธรรม การทหารและการทูต รวมทั้งยืนเคียงข้างยูเครนตราบนานเท่านาน"

บรรดาผู้นำ G-7 ระบุด้วยว่า จนถึงขณะนี้ได้มีการจัดหาความช่วยเหลือต่าง ๆ ให้แก่ยูเครนเป็นมูลค่ารวมกัน 29,500 ล้านดอลลาร์แล้ว

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวระหว่างการหารือนอกรอบของการประชุม G-7 ในครั้งนี้ว่า มาตรการลงโทษชุดใหม่นี้มุ่งเป้าไปที่รายได้ของประธานาธิบดีปูตินโดยตรง โดยเฉพาะในภาคพลังงาน ควบคู่ไปกับการจำกัดผลกระทบที่มีต่อเศษฐกิจของประเทศในกลุ่ม G-7 และทั่วโลกด้วย

เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวด้วยว่า กลุ่ม G-7 จะร่วมมือกับหลายประเทศ รวมทั้งอินเดีย เพื่อให้ลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียลง โดยอินเดียคือหนึ่งในห้าประเทศที่เข้าร่วมการประชุม G-7 ในวันที่สองในฐานะแขกพิเศษ เพื่อหารือด้านพลังงานสะอาด ปัญหาอาหารโลกขาดแคลน และปัญหาภาวะโลกร้อน เป็นต้น

(L-R) Italian Prime Minister Mario Draghi, President of the European Commission Ursula von der Leyen, US President Joe Biden, German Chancellor Olaf Scholz, British Prime Minister Boris Johnson, Canadian Prime Minister Justin Trudeau, Japanese Prime Minister Fumio Kishida, French President Emmanuel Macron and President of the European Council Charles Michel pose for an informal group photo standing at a bench after a working dinner during the G7 Summit held at Elmau Castle, southern Germany on June 26, 2022. (Photo by Ludovic MARIN / POOL / AFP)
(L-R) Italian Prime Minister Mario Draghi, President of the European Commission Ursula von der Leyen, US President Joe Biden, German Chancellor Olaf Scholz, British Prime Minister Boris Johnson, Canadian Prime Minister Justin Trudeau, Japanese Prime Minister Fumio Kishida, French President Emmanuel Macron and President of the European Council Charles Michel pose for an informal group photo standing at a bench after a working dinner during the G7 Summit held at Elmau Castle, southern Germany on June 26, 2022. (Photo by Ludovic MARIN / POOL / AFP)

ทั้งนี้ วิกฤติในยูเครนได้เบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาผู้นำโลกจากวิกฤติด้านอื่น ๆ รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเดิมทีถูกวางไว้เป็นประเด็นหลักในการประชุมครั้งนี้ ก่อให้เกิดความกังวลในหมู่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมว่า ชาติตะวันตกอาจกำลังลดความพยายามต่อสู้ภาวะโลกร้อนเพื่อหาหนทางลดผลกระทบจากการคว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซีย ด้วยการหันไปหาแหล่งพลังงานแบบเดิม เช่น ถ่านหิน แทน

โดยสำนักขาวรอยเตอร์ระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ คาดว่าญี่ปุ่นจะพยายามกดดันให้กลุ่ม G-7 ชะลอหรือยกเลิกเป้าหมายว่าด้วยเรื่องการผลักดันให้ใช้ยานพาหนะที่ไม่ปล่อยมลพิษในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำเหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี โอลาฟ โชลซ์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม ไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะคว่ำบาตรการประชุมสุดยอดกลุ่ม G-20 ที่จะจัดขึ้นที่อินโดนีเซียในช่วงปลายปีนี้ หากประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจเดินทางไปร่วมการประชุมดังกล่าว

  • ข้อมูลบางส่วนจากเอพีและรอยเตอร์
XS
SM
MD
LG