ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กาตาร์เผยแล้ว! คนงานก่อสร้างสนามฟุตบอลโลกดับ 400 - 500 คน


FILE - Laborers remove scaffolding at the Al Bayt stadium in Al Khor, Qatar, about 50 kilometers (30 miles) north of Doha, Apr. 29, 2019.
FILE - Laborers remove scaffolding at the Al Bayt stadium in Al Khor, Qatar, about 50 kilometers (30 miles) north of Doha, Apr. 29, 2019.

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกาตาร์ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 เปิดเผยว่า มีคนงานก่อสร้างสนามแข่งขันเสียชีวิตประมาณ 400 - 500 คน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่ทางการกาตาร์เคยระบุไว้มาก

ฮัสซาน อัล-ทาวาดี เลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมาธิการสูงสุดด้านการส่งมอบและสืบทอดของกาตาร์ เผยถึงตัวเลขดังกล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์กับ เพียร์ส มอร์แกน พิธีกรคนดังชาวอังกฤษ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการระบุถึงตัวเลขนี้จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกาตาร์เอง

อัล-ทาวาดี ยังได้ขู่ว่าจะตอบโต้เสียงวิจารณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าวจำนวนมากที่เข้าร่วมก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ รวมทั้งสนามกีฬาและระบบขนส่งมวลชน มูลค่ารวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ รัฐบาลกาตาร์และคณะกรรมาธิการสูงสุดชุดนี้ ยังมิได้ตอบรับคำขอให้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด

Piers Morgan
Piers Morgan

ในการสัมภาษณ์ซึ่งมีการโพสต์ข้อความบางส่วนในสื่อสังคมออนไลน์ ฮัสซาน อัล-ทาวาดี ตอบคำถามของมอร์แกนเรื่องคิดว่ามีแรงงานต่างด้าวเสียชีวิตที่คนระหว่างการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยเขาตอบว่า "น่าจะประมาณ 400 - 500 คน แต่ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน"

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมาธิการสูงสุดด้านการส่งมอบและสืบทอดของกาตาร์ ระบุว่า ตัวเลขแรงงานที่เสียชีวิตระหว่างปีค.ศ. 2014 - 2021 อยู่ที่ 40 คน โดยเป็นข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการทำงานก่อสร้างสนามกีฬาเท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้มี 37 คนที่กาตาร์ระบุว่าเป็นการเสียชีวิตจากสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เช่น อาการหัวใจล้มเหลว และมีเพียง 3 รายเท่านั้นที่เสียชีวิตจากการทำงาน

นับตั้งแต่สมาพันธ์ฟุตบอลโลก หรือ ฟีฟ่า ประกาศเมื่อปี 2010 เลือกกาตาร์เป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 ทางการกาตาร์ได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ประเทศเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับการแข่งขันครั้งนี้ เช่น ยกเลิกระบบการจ้างงานที่บังคับให้ลูกจ้างต้องอยู่ภายใต้การดูแลของนายจ้างอย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลาของสัญญาจ้าง และเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำเพื่อดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์มากมายถึงการละเมิดสิทธิของแรงงานต่างด้าวในกาตาร์ รวมถึง การจ่ายค่าแรงล่าช้า และการถูกนายจ้างล่วงละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบ

คำพูดของอัล-ทาวาดี ยังทำให้เกิดคำถามถึงความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของลูกจ้าง ที่รัฐบาลหรือภาคธุรกิจในประเทศแถบตะวันออกกลางเปิดเผยออกมาต่อสาธารณชน ท่ามกลางอุตสาหกรรมการก่อสร้างอาคารระฟ้าที่เฟื่องฟูในหลายประเทศในภูมิภาคนี้

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG