ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ตรวจสอบข่าว: ปูตินโต้การคว่ำบาตรรัสเซียขัดต่อหลักการ WTO


UKRAINE-CRISIS/RUSSIA-SANCTIONS
UKRAINE-CRISIS/RUSSIA-SANCTIONS

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวหาว่า มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของประเทศในแถบชาติตะวันตกที่ใช้ต่อรัสเซียเพื่อตอบโต้การบุกยูเครนของรัสเซีย เป็นการล้ำเส้น และละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานขององค์การการค้าโลก (WTO)

ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า “ [การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ] เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการขององค์การการค้าโลก แต่กลับถูกมองข้ามและละเลย (ในกรณีของรัสเซีย) จึงเห็นได้ชัดว่า หุ้นส่วนชาติตะวันตกของเราบางรายไม่ต้องการคำนึงหลักการข้างต้นอีกต่อไป เพราะประเทศเหล่านี้ละอายที่จะพูดถึง”

รัสเซียได้คัดค้านมาตรการคว่ำบาตรที่นานาชาติใช้ เพราะบริษัทต่างชาติจำนวนมากได้เลิกประกอบกิจการในรัสเซีย ซ้ำยังเกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าและอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง เศรษฐกิจรัสเซียจึงทรุดตัวลงอย่างหนัก ดังนั้น ประธานาธิบดีรัสเซียจึงมักใช้ถ้อยคำโจมตีสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศอื่น ๆ ที่ร่วมคว่ำบาตร

ทั้งนี้ ฝ่ายตรวจสอบข่าวสารของสำนักข่าววีโอเอ Polygraph พบว่า สิ่งที่ผู้นำรัสเซียกล่าวนั้นเป็นการบิดเบือนความเป็นจริง เพราะการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯ และชาติอื่น ๆ ใช้ต่อรัสเซียเป็นสิทธิ์ที่กำกับไว้ภายใต้กฎขององค์การการค้าโลก และองค์การดังกล่าวยังมีองค์กรระงับข้อพิพาท (dispute settlement body - DSB) ระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 164 ชาติ เพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ แต่รัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิก WTO ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2012 ไม่เคยใช้ช่องทางข้างต้นเลย

ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เครมลิมพยายามใช้วาทศิลป์ที่ร้อนแรงในการคัดค้านการคว่ำบาตรและขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับบุคคล และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ดมิทรี บิริเชฟสกี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวผ่านสื่อรัฐบาลว่า มาตรการจำกัดด้านการค้าที่ประเทศสมาชิกอื่น ๆ บังคับใช้ต่อรัสเซียใช้นั้นผิดกฎหมาย

ประเทศตะวันตกได้ระงับการนำเข้าสินค้าไฮเทคจากรัสเซีย โดยเฉพาะระบบการสื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่สิ่งที่สร้างความเจ็บปวดแก่เศรษฐกิจรัสเซียมากที่สุด คือ การยึดทรัพย์สินราว 300,000 ล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางรัสเซีย

เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาผู้นำรัสเซียออกคำสั่งให้รัฐบาลทำการประเมินมาตรการต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิก WTO ดำเนินการต่อมอสโก และให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อ WTO ภายในวันที่ 1 มิถุนายน

ทั้งนี้ เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน รัสเซียออกมากล่าวเพียงว่า ได้เตรียมเอกสารครบถ้วนและพร้อมที่ฟ้องผู้กระทำผิด แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์แห่งสถาบันกฎหมาย British Institute of International and Comparative Law อธิบายว่า ที่รัสเซียถอยไปนั้นอาจเป็นเพราะ โอกาสที่ WTO จะยอมรับว่าการคว่ำบาตรของนานาชาตินั้นเป็นสิ่งที่ทำได้มีอยู่สูงมาก

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีการลงมติให้รัสเซียยุติปฏิบัติการทางทหารในยูเครน และถอนทหารออกจากพื้นที่ทันที โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 141 ประเทศที่เห็นชอบกับมตินี้ ขณะที่มี 5 ประเทศคัดค้าน และ 35 ประเทศงดออกเสียง

เนื่องจากการรุกรานยูเครนด้วยกำลังทหารของรัสเซียเป็นการละเมิดกฎหมายสากล เพราะขัดต่อมาตรา 2 วรรค 4 ของกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) ซึ่งระบุว่า รัฐที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จะไม่ “ทำการข่มขู่หรือการใช้กำลังบูรณภาพแห่งดินแดนหรือความเป็นอิสระทางการเมืองของรัฐใด ๆ”

ด้วยมติและการกระทำผิดข้างต้นของรัสเซีย จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าประเทศฝั่งตะวันตกจะสามารถใช้เหตุผลกับ WTO ว่า มาตรการคว่ำบาตรมีความจำเป็นเมื่อเกิดสงครามขึ้นหรือกรณีฉุกเฉินที่กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นอกจากนั้น บทบัญญัติในข้อตกลงพื้นฐานด้านการค้าปี 1994 ของ WTO ยังอนุมัติให้ประเทศสมาชิกสามารถกระทำการที่ขัดต่อหลักการขั้นพื้นฐานขององค์การได้ หากเกิดการกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

บทบัญญัติข้างต้นเป็นสิ่งที่รัสเซียใช้ในปี 2014 หลังปธน.ปูติน ผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียและเริ่มทำสงครามในพื้นที่ภาคตะวันออกของยูเครน โดยในตอนนั้น ยูเครนเรียกร้องให้ WTO สั่งรัสเซียไม่ให้ทำการจำกัดการขนส่งสินค้าจากยูเครนผ่านถนนและรถไฟของรัสเซียไปยังประเทศที่สาม แต่ WTO ตัดสินว่า รัสเซียสามารถทำเช่นนั้นได้ภายใต้ข้อยกเว้นการกระทบความมั่นคงของประเทศ

ในเวลานี้ การคาดเดาว่า รัสเซียจะให้เหตุผลใดอธิบายกับ WTO เพื่อสนับสนุนข้อโต้แย้งว่า ประเทศอื่นๆ ละเมิดหลักการขององค์การการค้าโลกนั้นยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจากคำตัดสินในอดีต ก็คือ มาตรการคว่ำบาตรสามารถดำเนินต่อไปใต้ในภาวะสงคราม

ดังนั้น คำกล่าวหาของปธน.ปูติน ว่า หลักการขององค์การการค้าโลกนั้น “ถูกมองข้ามและละเลย” ไป ถือว่า เป็นการกล่าวอ้างเกินจริงอย่างเห็นได้ชัด

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG