ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘โฆษณาชวนเชื่อ-คลิปปลอม’ ลามไวกว่าวิกฤตยูเครน


FILE - Silhouettes of mobile users are seen next to logos of social media apps Signal, Whatsapp and Telegram projected on a screen in this picture illustration.
FILE - Silhouettes of mobile users are seen next to logos of social media apps Signal, Whatsapp and Telegram projected on a screen in this picture illustration.

ท่ามกลางความตึงเครียดในยูเครน สิ่งที่เคลื่อนไหวรวดเร็วและรุนแรงกว่าสถานการณ์ภายในดินแดนยูเครน เห็นจะเป็นข้อความ วิดีโอ รูปภาพที่อ้างว่ามาจากพื้นที่พิพาทในยูเครน ที่ได้รับการเผยแพร่ส่งต่อไปทั่วทั้งสื่อสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก เทเลแกรม หรือแม้แต่ใน TikTok

สำนักข่าวเอพี รายงานการเผยแพร่ภาพและวิดีโอเกี่ยวกับภาพความสูญเสียในสถานการณ์ยูเครน ซึ่งบางคลิปเป็นเหตุการณ์จริง แต่บางคลิปกลับเป็นเหตุการณ์เก่าย้อนไปสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว

การบุกยูเครนของรัสเซียเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ถือเป็นเหตุความขัดแย้งครั้งใหญ่ในยุคโซเชียลมีเดีย ที่หน้าจอเล็กๆ ของสมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สื่อสารอันทรงพลัง และเป็นพาหนะส่งต่อข้อมูลผิดๆที่เป็นอันตรายถึงชีวิตกับผู้คนได้เช่นกัน

คลิปวิดีโอใน TikTok ที่พาดหัวข่าวแนวโฆษณาชวนเชื่อ และทวีตที่เด้งเตือนไปทั่วโลก สร้างความสับสบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงในยูเครน เพราะมีทั้งข้อมูลที่พูดถึงการที่รัสเซียโจมตียูเครนว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “ไม่ได้เกิดจากการยั่วยุจากฝ่ายใด” และอีกด้านระบุว่า “เป็นความจำเป็นที่ต้องเกิดขึ้น” ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ทุกช่องทาง และขึ้นอยู่กับว่าใครคือผู้ส่งสาร

โดยเมื่อวันพุธ ทวีตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีผู้ติดตามบัญชีนี้กว่า 40 ล้านราย ระบุว่า ชาวยูเครนกำลังผจญทุกข์เข็ญจากการโจมตีของรัสเซีย ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้เหตุผลอันควรและไม่มีผู้ได้เป็นฝ่ายยั่วยุก่อน

อีกด้านหนึ่ง ในทัศนะของ เบรท แชฟเฟอร์ หัวหน้าฝ่าย information manipulation ของ Alliance for Securing Democracy ในกรุงวอชิงตัน ระบุว่า สื่อของรัฐบาลรัสเซีย ตอกย้ำถ้อยแถลงของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ในทุกช่องทางถึงข้อกล่าวอ้างผิดๆ ที่ว่า ยูเครนกำลังเดินหน้าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และทำให้ประชากรส่วนใหญ่ในยูเครนเป็นพวกนาซี อย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ก่อนรายงานของสื่อ RT ที่เผยแพร่สดทางโทรทัศน์ โดยปราศจากหลักฐานว่าชาวยูเครนจะเริ่มรมแก๊สพลเมืองของตัวเองแล้ว และจะเริ่มเห็นการยกระดับการบรรยายบทบาทว่ารัสเซียต้องเข้าไปปกป้องพลเมืองจากกลุ่มนาซีที่หวังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้คนในยูเครน

ผ่านพ้นไปถึงวันพฤหัสบดี การเฟ้นหาความจริงยิ่งยากขึ้นสำหรับผู้คนทั่วโลก จากคลื่นทวีตนับร้อยที่ถาโถมเกี่ยวกับวิกฤตยูเครน คลิปตัดต่อ และภาพต่างๆ ที่เผยเสียงปืนลั่นครั้งแรกก่อนสงครามปะทุขึ้น

มีคลิปหนึ่งที่มียอดชมหลายล้านครั้งบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ อ้างว่าเป็นการโจมตีในยูเครน ที่เครื่องบินรบรัสเซียบินผ่านม่านหมอกควันสีเทา ก่อนจะถูกกองทัพยูเครนยิงตกลงมา แต่ไม่นานนักสำนักข่าวเอพี สามารถยืนยันได้ว่า นั่นเป็นคลิปเหตุการณ์ในลิเบียเมื่อกว่าสิบปีก่อน

นอกจากนี้ ยังมีคลิปใน TikTok ที่เผยให้เห็นภาพทหารโดดร่มลงมาในดินแดนยูเครน ซึ่งมียอดชมมากกว่า 22 ล้านครั้งในวันเดียว ก่อนจะพบว่าเป็นคลิปเก่านานกว่า 1 ปีที่เผยแพร่โดยบัญชี TikTok ในรัสเซีย

จอห์น ซิลวา ผู้อำนวยการอาวุโส จาก News Literacy Project องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ต่อสู้กับข่าวปลอมด้วยองค์ความรู้ บอกกับเอพีว่า เมื่อคนเห็นคลิป ภาพถ่ายบนโลกออนไลน์ ก็พร้อมที่จะดู แชร์ต่อ และปล่อยผ่านไปในทันที เพียงแค่เห็นว่าเป็นพลร่ม พูดภาษารัสเซีย ก็ไม่มีความกังขาหรือใช้เวลาตั้งข้อสังเกตใดๆ และหากเราเห็นข้อมูลใหม่เข้ามา เราก็พร้อมที่จะส่งต่อให้คนอื่นได้ทันที

ในบางกรณี ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เป็นฝ่ายเผยแพร่ข่าวลือที่หวังผลต่อมุมมองเรื่องการรุกรานยูเครนโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่บางรายหวังที่จะหลอกล่อให้ผู้ใช้รายอื่นแชร์ข้อมูลผิดๆ โดยไม่รู้ตัว

ในมุมมองของซิลวา เห็นว่า การเผยแพร่ข่าวปลอมจะเกิดขึ้นทั้งจากรัฐบาลรัสเซีย และกลุ่มที่อยากจะแค่เผยแพร่ข่าวปลอมเพื่อหลอกลวงผู้คน ด้านแชฟเฟอร์ มองว่า คนเราเลือกเสพข้อมูลผิดๆ เพราะความโหยหาข้อมูล เมื่อความต้องการพุ่งสูงแต่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือมีน้อย นั่นจึงเป็นโอกาสของข้อมูลคลุมเครือที่เข้ามาเติมเต็มความต้องการนี้

และช่องว่างด้านข้อมูลได้ขยายวงกว้างขึ้นในวันพฤหัสบดี ที่เกิดปัญหาอินเตอร์เน็ตล่มในหลายพื้นที่ของยูเครน ทำให้การติดต่อญาติมิตรและติดตามข่าวสารภายในยูเครนเป็นไปได้ยากขึ้นอีก นำไปสู่พบการเพิ่มขึ้นของการเข้าถึงเทเลแกรม สื่อสังคมออนไลน์และช่องทางส่งข้อความที่ได้รับความนิยมในยุโรปตะวันออก ซึ่งเจอปัญหาในการใช้ในวันเดียวกันนี้ ตามข้อมูลของหนึ่งในผู้ก่อตั้งเทเลแกรม พาเวล ดูรอฟ

ขณะที่เว็บไซต์หลักบางแห่งของรัสเซีย ทั้งเว็บไซต์ของกองทัพและรัฐบาล ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือประสบปัญหาล่าช้า เหมือนเป็นรูปแบบของการโจมตีทางไซเบอร์ และทางสหรัฐฯ กล่าวหารัสเซียว่าเป็นฝ่ายโจมตีเว็บไซต์ต่างๆของรัฐบาลยูเครน

ในมุมมองของแอลป์ โทเกอร์ ผู้ก่อตั้ง NetBlocks บริษัทติดตามปัญหาเว็บไซต์ล่มและปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทั่วโลก ที่มีสำนักงานในกรุงลอนดอน มองว่า ปัญหาอินเตอร์เน็ตล่มในคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองของยูเครน เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดีจริง ซึ่งบางพิกัดอาจมีสาเหตุจากการโจมตีทางอากาศและระเบิดต่างๆ แต่บางพิกัดอาจมีส่วนมาจากกองทัพรัสเซีย ที่พยายามปิดกั้นรบกวนช่องทางการสื่อสารและสร้างความตื่นตระหนกขึ้นมา

เขาเสริมท้ายไว้ว่า ผลกระทบต่อมนุษย์ที่ขาดการเชื่อมต่อครั้งแล้วครั้งเล่าในภาวะเช่นนี้เป็นประสบการณ์อันน่าสะพรึงกลัว และสมเหตุสมผลในแง่ของยุทธวิธี และรู้ว่านั่นคือกลยุทธ์อีกอย่างที่นำมาใช้ในสถานการณ์เช่นนี้

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG