ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ทิศทางลมการเมืองระหว่างประเทศ กับฟิลิปปินส์ที่เริ่มหันหลังให้จีน-หวนกลับมาหาสหรัฐฯ


In this photo provided by the Malacanang Presidential Photographers Division, U.S. Secretary of Defense Lloyd Austin, left, does a fist bump with Philippine President Rodrigo Duterte during a courtesy call on the president at the Malacanang Palace…
In this photo provided by the Malacanang Presidential Photographers Division, U.S. Secretary of Defense Lloyd Austin, left, does a fist bump with Philippine President Rodrigo Duterte during a courtesy call on the president at the Malacanang Palace…
Philippines China Infrastructure
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:45 0:00


เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกรุงมะนิลาเพิ่งประกาศฟื้นฟูข้อตกลง Visiting Forces Agreement กับกองทัพสหรัฐฯ อีกครั้ง หลังขู่เมื่อ 18 เดือนก่อนว่าจะยกเลิกแผนงานดังกล่าวไป โดยพัฒนาการเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งน่าจะไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หรือสร้างความประทับใจอันดีให้กับประชาชนชาวฟิลิปปินส์มากพอ

โดยระหว่างการเยือนฟิลิปปินส์ของ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตรเต้ แห่งฟิลิปปินส์ ประกาศอย่างเป็นทางการว่า กรุงมะนิลาจะเดินหน้าทำตามข้อตกลงอายุ 22 ปีดังกล่าว ที่เรียกกันแบบย่อๆ ว่า VFA แม้ว่า ผู้นำฟิลิปปินส์จะกล่าวออกมาตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้วว่า ตนตั้งใจจะยกเลิกข้อตกลงนี้ หลังรัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธการออกวีซ่าให้กับวุฒิสมาชิกฟิลิปปินส์รายหนึ่ง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ผู้มีส่วนสำคัญในการดำเนินแผนปราบปรามกลุ่มค้ายาเสพติดด้วยมาตรการรุนแรงและการทำวิสามัญฆาตกรรม ที่ทำให้รัฐบาลทั่วโลกไม่เห็นด้วยและออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ปธน.ดูเตร์เต้ ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี ค.ศ. 2016 น่าจะเพิ่งตระหนักว่า จีนจะไม่ทำตามสัญญาที่ให้ไว้เมื่อ 5 ปีก่อนว่า จะนำส่งความช่วยเหลือและทำการลงทุนในฟิลิปปินส์เป็นเม็ดเงินราว 33,000 ล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วของประเทศนี้

FILE - Construction workers stand on scaffolding around metal rods of a new pillar as they add more floors to a building project in suburban Paranaque city, south of Manila, Philippines, Jan. 26, 2017.
FILE - Construction workers stand on scaffolding around metal rods of a new pillar as they add more floors to a building project in suburban Paranaque city, south of Manila, Philippines, Jan. 26, 2017.

นอกจากนั้นการที่เรือสัญชาติจีนเข้ามาทอดสมอบริเวณแนวปะการังที่เป็นจุดพิพาทของทั้งคู่อยู่ เมื่อเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยิ่งทำให้ทางการฟิลิปปินส์ยิ่งไม่พอใจ และกลายมาเป็นประเด็นเตือนกรุงมะนิลาว่า ข้อพิพาทเรื่องอธิปไตยทางทะเลระหว่างทั้งสองประเทศยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ค้างคาอยู่

ยุน ซุน นักวิชาการอาวุโสและผู้อำนวยการร่วมโครงการเอเชียตะวันออก แห่งศูนย์ Stimson Center ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ถ้าหากรัฐบาลกรุงปักกิ่งทำตามสัญญาได้มากกว่าที่ทำมา ในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปธน.ดูเตรเต้ อาจจะคงรักษาจุดยืนปฏิเสธการยกเลิกข้อตกลง VFA กับสหรัฐฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ หลายฝ่ายเห็นตรงกันแล้วว่า คำสัญญาของจีนที่ให้กับปธน.ดูเตรเต้ ไม่เคยจะเกิดขึ้นจริงได้เลย

สื่อท้องถิ่นในฟิลิปปินส์รายงานเมื่อต้นปี ค.ศ. 2019 ว่า ณ เวลานั้น รัฐบาลกรุงมะนิลาได้รับความช่วยเหลือและการลงทุนจากจีนเป็นมูลค่าเพียง 4,700 ล้านดอลลาร์ จากยอดรวมที่สัญญาไว้ทั้งหมด

ในส่วนของข้อตกลง VFA นั้น สหรัฐฯ จะขายอาวุธยุทโธปกรณ์ ทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรอง และร่วมหารือความร่วมมือด้านการทหารกับฟิลิปปินส์ โดยกองทัพสหรัฐฯ จะได้รับอนุญาตให้เดินทางมาเข้าร่วมการฝึกซ้อมรบกับกองทัพฟิลิปปินส์ ในด้านงานเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมภายในประเทศ

Visiting Forces Agreement 1998
Visiting Forces Agreement 1998

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ปกครองฟิลิปปินส์ มาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เป็นเวลากว่า 50 ปี ก่อนจะตกลงให้มีการประกาศอิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในสายตาของรัฐบาลกรุงวอชิงตันในปัจจุบัน ฟิลิปปินส์ คือ ตัวแทนของหนึ่งในห่วงโซ่พันธมิตรในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ที่ตนสามารถทำงานร่วมด้วยได้เพื่อสกัดกั้นความพยายามในการขยายอิทธิพลของจีน

ยุน ซุน แห่งศูนย์ Stimson Center กล่าวเสริมว่า ดูเตรเต้ น่าจะยอมรักษาข้อตกลง VFA ไว้ เพราะฟิลิปปินส์จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงต้นปีหน้า แม้ว่า ตามรัฐธรรมนูญของประเทศนั้น ผู้นำแต่ละคนจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 1 วาระๆ 6 ปี แต่มีกระแสข่าวภายในประเทศว่า ซารา ดูเตรเต้ ผู้เป็นบุตรสาวมีแผนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง

นอกจากนั้น ผลการสำรวจที่ทำไว้ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2016 โดยองค์กร Social Weather Stations ซึ่งตั้งอยู่ในนครเคซอนซิตี้ ของฟิลิปปินส์ ชี้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกองทัพ นิยมชมชอบสหรัฐฯ มากกว่า จีน

ฌอน คิง รองประธานบริษัท Park Strategies ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ที่ตั้งอยู่ในนครนิวยอร์ก เชื่อว่า ดูเตรเต้ หันมาคืนดีกับสหรัฐฯ เพราะต้องการกลบเกลื่อนเรื่องการเมืองของตน เพื่อเปิดโอกาสให้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งอื่นๆ ในอนาคตได้

ในความเป็นจริง หลายคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า ดูเตรเต้ ไม่ได้ชอบพอสหรัฐฯ และออกมาให้ความเห็นที่ก่อกระแสต้านสหรัฐฯ อยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อปีที่แล้ว ผู้นำฟิลิปปินส์ ประกาศชัดเจนว่า ตนพึงพอใจที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์กับกรุงปักกิ่ง มากกว่ากับกรุงวอชิงตันด้วย

Philippine President Rodrigo Duterte (L) and Chinese President Xi Jinping (R) clap as they attend a signing ceremony at the Diaoyutai State Guesthouse in Beijing, China, August 29, 2019. How Hwee Young/Pool via REUTERS - RC1A6551E6E0
Philippine President Rodrigo Duterte (L) and Chinese President Xi Jinping (R) clap as they attend a signing ceremony at the Diaoyutai State Guesthouse in Beijing, China, August 29, 2019. How Hwee Young/Pool via REUTERS - RC1A6551E6E0

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนในเวลานี้ แขวนอยู่กับประเด็นข้อพิพาทการแย่งชิงสิทธิ์พื้นที่ 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรในทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลและพลังงานสำรองสำคัญ โดยจีนไม่สนใจคำโต้แย้งของประเทศคู่พิพาทอื่นๆ และเดินหน้าทำการถมทะเลสร้างเกาะในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสั่งสมกำลังทางทหารของตน

ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองคลี่คลายลงไปครั้งหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 2016 หลังจากรัฐบาลกรุงมะนิลาเป็นผู้ชนะในศาลโลกที่พิพากษาว่า การที่จีนอ้างสิทธิ์ในพื้นที่พิพาทของทะเลจีนใต้นั้นไม่ถูกต้อง ก่อนที่ ดูเตรเต้ จะริเริ่มการเข้าหาจีนเพื่อสานความสัมพันธ์กันใหม่

แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลฟิลิปปินส์เริ่มเข้าหารัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเจรจารายละเอียดข้อตกลง VFA ที่กรุงมะนิลา ต้องการให้สหรัฐฯ รับประกันว่าจะช่วยปกป้องตนในการต่อสู้เรื่องของพิพาทพื้นที่ทางทะเลกับจีน

อย่างไรก็ดี รายงานข่าวระบุว่า จนถึงบัดนี้ สหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ ยังไม่ได้นั่งลงเจรจาข้อตกลงนี้กันใหม่เลย

ยุน ซุน แห่งศูนย์ Stimson Center กล่าวว่า สำหรับทางจีนนั้น สื่อรัฐซึ่งติดตามสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์มาโดยตลอด เริ่มไม่พูดถึงประเด็นนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ขณะที่ กรุงปักกิ่งเองมีท่าทีผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น หลังพยายาม “สร้างความร้าวฉาน” ระหว่างสองพันธมิตรนี้มานาน

ฌอน คิง รองประธานบริษัท Park Strategies กล่าวปิดท้ายว่า การที่ฟิลิปปินส์กลับมาคืนดีกับสหรัฐฯ อีกครั้งจะช่วยรัฐบาลกรุงวอชิงตันเดินหน้าประสานงานกับประเทศพันธมิตรอื่นๆ ในเอเชียได้มากขึ้น และ “การรักษาข้อตกลง VFA ไว้ พร้อมกับการเจรจาเมื่อต้นปีเกี่ยวกับการแบ่งปันภาระรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยังทำให้รู้สึกว่า ประธานาธิบดี (โจ) ไบเดน สามารถหาเพื่อนและพันธมิตรมาช่วยประจันหน้ากับแผนการของจีนในการสร้างอิทธิพลและความเป็นผู้นำในภูมิภาค(นั้น) ได้มากขึ้นด้วย”

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG