ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์มอง ‘ประเด็นเมียนมา’ ตอกลิ่มระหว่างสมาชิกอาเซียนค่ายอำนาจนิยมและฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย


[FILE] Foreign ministers and representatives of Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) are seen on a screen during an informal meeting, in Putrajaya, Malaysia, March 2, 2021. Courtesy of Malaysian Foreign Ministry/Handout via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN
[FILE] Foreign ministers and representatives of Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) are seen on a screen during an informal meeting, in Putrajaya, Malaysia, March 2, 2021. Courtesy of Malaysian Foreign Ministry/Handout via REUTERS THIS IMAGE HAS BEEN

ในสัปดาห์นี้ กัมพูชาในฐานะประธานหมุนเวียนของอาเซียนจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศจากสมาชิกสมาคมอาเซียนในรูปแบบของการประชุมแบบลูกผสมหรือ hybrid เพื่อกำหนดวาระสำคัญต่างๆ สำหรับปี

และในการประชุมที่กำลังจะจัดขึ้นที่ กรุงพนมเปญ ในวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้ มีการคาดว่า ที่ประชุมจะหารือเรื่องต่างๆ นับตั้งแต่ปัญหาในทะเลจีนใต้ การรวมตัวของกลุ่มประเทศที่เรียกว่า the Quad ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลียเพื่อต้านอิทธิพลของจีน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังโรคระบาดใหญ่ การรับติมอร์ตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกใหม่ รวมทั้งการยุติเหตุการณ์รุนแรงในเมียนมาด้วย

แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าความแตกแยกในกลุ่มสมาชิกของอาเซียนที่มีอยู่เดิมจากประเด็นเรื่องการเข่นฆ่าคนต่างชาติพันธุ์และการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮีนจาโดยกองทัพเมียนมาซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2017 ได้ยิ่งขยายตัวกว้างออกไปหลังการยึดอำนาจโดยกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว

ชาลส์ ซานติอาโก จากกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ชี้ว่า ความแตกแยกด้านแนวคิดและการปฏิบัติของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมานั้นมีอยู่จริง โดยจะเห็นได้ว่า สมาชิกของอาเซียนแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่มีผู้นำแนวอำนาจนิยม เช่น ประเทศไทย กัมพูชา และลาว ซึ่งกำลังทำงานร่วมกับเมียนมาทั้งโดยตรงและทางอ้อม กับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ซึ่งสนับสนุนประชาธิปไตยและพยายามกดดันประเทศสมาชิกกลุ่มแรกอยู่

นักวิเคราะห์คนอื่นมองด้วยว่า ขณะนี้มีกลุ่ม troika หรือสามประเทศที่ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย กับบรูไนซึ่งมีความเห็นอกเห็นใจเกี่ยวกับชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮีนจาและได้คัดค้านการยอมรับผู้นำทางการเมืองของเมียนมากลับเข้าสู่การประชุมของอาเซียน

อาจารย์ คาร์ล เธเยอร์ ศาสตราจารย์กิตติคุณที่มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลียชี้ว่า ขณะนี้กัมพูชากับประเทศไทยไม่อยากให้ความสนใจกับปัญหาชาวโรฮีนจา รวมทั้งเรื่องการยึดอำนาจในเมียนมา และต้องการให้ผู้นำเมียนมากลับเข้าร่วมประชุมได้อีกครั้ง หลังจากที่ไม่เป็นที่ต้อนรับจากบรูไนซึ่งเป็นประธานของอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว แต่ขณะที่ทั้งสองประเทศนี้อยากจะมองว่า เรื่องโรฮีนจาเป็นปัญหาของคนอื่นนั้น สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนรายอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวมุสลิมโรฮีนจาและท่าทีการตอบสนองของอาเซียน รวมทั้งปัญหาในเมียนมาขณะนี้ ได้สร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของอาเซียนโดยรวม

อันที่จริงแล้วสมาคมอาเซียนได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1967 ในช่วงสงครามเวียดนามเพื่อเป็นปราการช่วยต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และต่อมาการรวมตัวดังกล่าวได้พัฒนากลายเป็นกลุ่มการค้าโดยมีนโยบายไม่ก้าวก่ายกิจการภายในซึ่งกันและกันเพื่อช่วยรักษาภาพลักษณ์ของความมีเอกภาพไว้

อย่างไรก็ตาม รอยร้าวในความมีเอกภาพของอาเซียนได้เริ่มแสดงขึ้นในปี 2012 เมื่อกัมพูชาพันธมิตรใกล้ชิดของจีนเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน และการประชุมผู้นำอาเซียนในปีนั้นไม่สามารถมีคำแถลงใดๆ ที่ตำหนิการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ และหลังจากนั้นสมาคมอาเซียนก็ยังไม่สามารถทำความตกลงเกี่ยวกับเอกสารแนวทางปฏิบัติหรือ code of conduct ในทะเลจีนใต้ได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่สมาชิก และขณะนี้ได้ยิ่งขยายตัวออกไปจากประเด็นเรื่องการปฏิบัติต่อคนต่างศาสนาและต่างชาติพันธุ์ในเมียนมาด้วย

FILE - Cambodian Prime Minister Hun Sen, right, shakes hands with Myanmar State Administration Council Chairman, Senior General Min Aung Hlaing, left, during after a meeting in Naypyitaw, Myanmar, Jan. 7, 2022.
FILE - Cambodian Prime Minister Hun Sen, right, shakes hands with Myanmar State Administration Council Chairman, Senior General Min Aung Hlaing, left, during after a meeting in Naypyitaw, Myanmar, Jan. 7, 2022.

ในปีนี้นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนได้เดินทางไปเมียนมาเมื่อเดือนมกราคม แต่ก็ถูกตำหนิว่าเป็นความพยายามเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบการปกครองที่มาจากการยึดอำนาจซึ่งสังหารพลเรือนไปแล้วกว่า 1,500 คน แม้ว่าหลังจากเดินทางกลับจากเมียนมาแล้ว นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน จะประกาศว่า ได้มีความตกลงเพื่อยืดเวลาการหยุดยิงและยอมให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเมียนมา รวมทั้งจะเปิดการเจรจากับทุกฝ่ายก็ตาม แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น ทั้งยังมีรายงานการสังหารผู้คนและการโจมตีทางอากาศ เป็นผลให้พลเรือนกว่า 40,000 คนในรัฐกะเหรี่ยงต้องพลัดพรากจากที่อยู่อาศัยด้วย

อาจารย์ คาร์ล เธเยอร์ เชื่อว่า การที่นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เดินทางไปพบพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในเมียนมา ไม่ได้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอาเซียนและยิ่งเป็นการบั่นทอนฐานะท่าทีของอาเซียนจากการที่รัฐบาลทหารของเมียนมายังคงใช้วิธีกดขี่ปราบปรามและพยายามตั้งข้อหาเพิ่มเติมกับนาง ออง ซาน ซู จี

ศาสตราจารย์กิตติคุณที่มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ท่านนี้ ได้ชี้ว่า สมาคมอาเซียนจะถูกประณามทั้งจากสิ่งที่ทำและไม่ได้ทำ และความแตกแยกในบรรดาประเทศสมาชิกของอาเซียนเอง ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับกัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ แต่ขณะเดียวกันกัมพูชาก็กำลังสร้างปัญหายุ่งยากให้กับสมาคมอาเซียนด้วยเช่นกัน

XS
SM
MD
LG