ชาวอิตาลีกว่า 47 ล้านคน เดินเข้าคูหาเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในวันอาทิตย์ ในการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของอิตาลี ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 18 ในรอบ 70 ปี แต่ก็ว่ากันว่าเป็นครั้งที่คาดเดาผลได้ยากที่สุดครั้งหนึ่ง
ผู้ลงคะแนนหลายคนบอกว่า เวลานี้อิตาลีมีปัญหามากมาย ทั้งการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพ การว่างงานของคนหนุ่มสาว อัตราภาษีในระดับสูง และความกังวลด้านความปลอดภัย
ก่อนหน้านี้ อดีตนายกรัฐมนตรีอิตาลี 3 สมัย ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี (Silvio Berlusconi) หัวหน้าพรรค Forza วัย 80 ปี ประกาศจับมือกับพรรค League ซึ่งมีแนวทางต่อต้านผู้อพยพ และพรรค Brothers of Italy ซึ่งมีแนวคิดขวาจัด โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าพันธมิตรกลุ่มนี้มีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุดในสภา
ถึงกระนั้น ผลสำรวจก่อนการเลือกตั้งชี้ว่า พรรคร่วมฯ Forza อาจได้ที่นั่งไม่ถึง 40% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจัดตั้่งรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่
ขณะที่พรรค Five Star Movement ของนาย ลุยจิ ดิ ไมโอ (Luigi Di Maio) คนหนุ่มไฟแรงวัย 31 ปี ก็ได้รับคาดหมายว่าอาจเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดได้ แต่นายไมโอได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ไม่ต้องการจับมือกับพรรคใดเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
อาจกล่าวได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการชิงชัยระหว่าง ผู้สมัครที่อายุน้อยที่สุด คือนายไมโอ และผู้สมัครอายุมากที่สุด คือนายแบร์ลุสโคนี
อย่างไรก็ตาม พรรคของนายกฯ คนปัจจุบัน นายเปาโล เจติโลนี (Paolo Gentiloni) ก็อาจเป็นม้ามืดได้เช่นกัน
นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า หลังการเลือกตั้งอาจเกิดภาวะที่เรียกว่า Hung Parliament หรือการที่พรรคที่ได้รับเสียงมากที่สุด ไม่มีเสียงพอที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประธานาธิบดีอิตาลีจะเป็นผู้หาแนวทางประนีประนอมเพื่อให้มีการจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสมจากหลายพรรค ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการเจรจาต่อรอง
แต่หากยังไม่สามารถตกลงกันได้ ชาวอิตาลีก็อาจต้องกลับสู่คูหาเลือกตั้งอีกครั้ง
(ผู้สื่อข่าว Sabina Castelfranco รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)