ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อังกฤษมุ่งล้างบางคอรัปชั่น! เริ่มกฏหมายยึดทรัพย์ชาวต่างชาติที่ซื้อด้วยเงินทุจริต


อังกฤษเริ่มใช้กฏหมายยึดทรัพย์ชาวต่างประเทศที่ซื้อด้วยเงินทุจริต

อพาร์ทเมนท์สองแห่งที่ติดกับริมเเม่น้ำเทมส์ ในเขตไวท์ฮอลของกรุงลอนดอน มีมูลค่าราว 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ บรรดานักรณรงค์ต่อต้านคอรัปชั่นในกรุงมอสโคชี้ว่า อพาร์ทเมนท์สองห้องนี้เป็นของนายอิกกอร์ ชูวาลอฟ (Igor Shuvalov) รองนายกรัฐมนตรีหมายเลขหนึ่งของรัสเซีย ที่เปิดเผยว่าตนเองมีรายได้ต่อปีที่ 157,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ

จึงมีคำถามว่าทำไมนายชูวาลอฟจึงมีกำลังซื้ออพาร์ทเมนท์ทั้งสองห้องได้?

หน่วยงานต่อต้านคอรัปชั่นนานาชาติ Transparency International เปิดเผยว่า กรณีของนายชูวาลอฟ เป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ทางการอังกฤษควรสอบสวนโดยใช้อำนาจตามกฏหมายยึดทรัพย์ “Unexplained Wealth Order” หรือ UWO ที่เพิ่งออกมาบังคับใช้นี้

Rachel Davies Teka แห่ง Transparency International กล่าวว่า กฏหมายใหม่นี้ให้อำนาจแก่หน่วยงานตรวจสอบการทุจริตร้ายแรง หรือหน่วยงานด้านอาชญากรรมแห่งชาติในอังกฤษ ในการตรวจสอบเรื่องนี้ได้ โดยผู้ต้องสงสัยต้องอธิบายได้ว่า เงินที่ใช้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนมาจากที่ใด หากพิสูจน์ได้ก็ไม่มีปัญหา เเต่หากไม่มีหลักฐานยืนยันที่มาของเงิน ก็ควรถูกยึดอสังหาริมทรัพย์

หน่วยงานด้านอาชญากรรมแห่งชาติอังกฤษ เชื่อว่า ในกรุงลอนดอน มีการฟอกเงินที่มาจากการคอรัปชั่นปีละกว่า 100,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยเงินส่วนมากเป็นเงินที่ทุจริตมาจากเงินงบประมาณรัฐในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

Rachel Davies Teka แห่ง Transparency International กล่าวว่า ก่อนที่กฏหมายยึดทรัพย์ UWO จะออกมาบังคับใช้ เป็นเรื่องง่ายดายมากที่นักการเมืองทุจริตจากต่างประเทศจะนำเงินที่ฉ้อฉลมาได้ ไปลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษ

บ้านหลังหนึ่งในเขตเมย์เเฟร์ของกรุงลอนดอน มีมูลค่า 18 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เคยเป็นของนายริฟาท อัล อัสซาด ลุงของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย บรรดาเจ้าหน้าที่สอบสวนเชื่อว่าเขาได้ฉ้อฉลเงินงบประมาณรัฐบาลซีเรียมากกว่า 300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เเละได้ขายบ้านหลังนี้ในกรุงลอนดอนเมื่อปีที่แล้ว ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจยึดทรัพย์ทุจริตได้ โดยเขาอ้างว่าตนเองได้เงินจากผู้สนับสนุนชาวอาหรับ

บรรดาคนที่ต้องการหลบซ่อนเงินที่ได้มาอย่างผิดกฏหมาย มักจะใช้เครือข่ายที่ซับซ้อนของบรรดาบริษัทในต่างประเทศ เพื่อปกปิดความร่ำรวยที่ผิดปกติของตน

Rachel Davies Teka แห่ง Transparency International กล่าวว่า ยังไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของตัวจริงของบริษัทต่างประเทศเหล่านี้ ที่เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์แห่งต่างๆ ในอังกฤษ เเละนี่เป็นปัญหาในการระบุความเเตกต่างระหว่างรายได้จริงๆ กับเงินที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์

เอกสารที่เรียกว่า “Paradise Papers” ที่รั่วไหลเมื่อปีที่แล้ว ชี้ว่าอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนอีกแห่งหนึ่งมูลค่า 20 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นของนางทอยยิน ซารากิ (Toyin Saraki) ภริยาของนายบูโกลา ซารากิ (Bukola Saraki) ประธานวุฒิสภาไนจีเรีย

นายซารากิกล่าวว่าอสังหาริมทรัพย์นี้ได้มาอย่างถูกกฏหมาย แต่ทางหน่วยงาน Transparency International ชี้ว่า ทางการอังกฤษควรสอบสวนที่มาของเงินที่นำมาซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งนี้เช่นกัน

ด้านรัฐมนตรีด้านข้อมูลของไนจีเรีย กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอเมื่อเดือนตุลาคมในปีที่ผ่านมาว่า ทางการไนจีเรียกำลังปราบปรามการคอรัปชั่นในประเทศ

ลาย โมฮัมเหม็ด (Lai Mohammed) รัฐมนตรีด้านข้อมูลของไนจีเรีย กล่าวว่า ทางการไนจีเรียต้องการความร่วมมือจากต่างประเทศหลายประเทศเพราะความพยายามในการปราบปรามคอรัปชั่นของไนจีเรียมักประสบกับอุปสรรคทางกฏหมายของต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม บรรดานักรณรงค์ต่อต้านการคอรัปชั่นเตือนว่า กฏหมาย UWO ที่ยึดทรัพย์ที่ซื้อด้วยเงินทุจริต จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อรัฐบาลอังกฤษจริงจังในการบังคับใช้กฏหมายนี้ เพื่อยุติบทบาทของกรุงลอนดอนในฐานะศูนย์กลางการฟอกเงินที่มาจากการคอรัปชั่น

(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

XS
SM
MD
LG