ลิ้งค์เชื่อมต่อ

หมู่บ้านอินเดียนำร่องนโยบาย ‘บำบัดพิษดิจิทัล’


Two elementary school students engrossed in a mobile phone, 11 Oct, 2022. School children used mobile phones to study online during the COVID lockdowns in India and many of them have now turned into what many call 'mobile addicts'.
Two elementary school students engrossed in a mobile phone, 11 Oct, 2022. School children used mobile phones to study online during the COVID lockdowns in India and many of them have now turned into what many call 'mobile addicts'.

ปัญหาการใช้เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป จนเกิดการเสพติด เป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วโลกหาทางแก้ไข ล่าสุดหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอินเดียพยายามผลักดันการแก้ปัญหานี้

ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ห่างไกลในประเทศอินเดีย ชาวบ้านจะได้ยินเสียงสัญญาณไซเรนจากวัดในท้องถิ่นทุก ๆ คืนในเวลาหนึ่งทุ่มตรง เป็นการส่งสัญญาณถึงการเริ่มต้นของ “digital detox” หรือ การบำบัดการเสพติดสื่อดิจิทัลประจำวัน ซึ่งในอีก 90 นาทีข้างหน้า ประชากร 3,000 คนในหมู่บ้าน โมหิตยันเช วาดกาออน (Mohityanche Vadgaon) ซึ่งอยู่ในเขตสางคลี (Sangli) จะหยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดรวมถึงโทรศัพท์มือถือและโทรทัศน์ด้วย

จากนั้นสัญญาณไซเรนครั้งที่สองจะดังขึ้นในเวลาสองทุ่มครึ่ง ซึ่งแสดงว่าช่วงเวลาการงดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ในระหว่างนั้น ชาวบ้านจะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อ่านหนังสือ เรียนหนังสือ และการร่วมวงสนทนากับคนอื่น ๆ

บรรดาผู้เสนอความคิดริเริ่มโครงการที่ดำเนินการอยู่ในหมู่บ้านในรัฐมหาราษฏระของอินเดียนี้กล่าวว่า นี่จะเป็นวิธีการแก้ปัญหา "การติดหน้าจอ" ที่เกิดขึ้นกับผู้คนหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส และจะเป็นการนำคุณค่าของการมีสัมพันธภาพของมนุษย์กลับคืนมา

กลยุทธ์ดังกล่าวนี้คิดค้นขึ้นโดย วีเจย์ โมหิต (Vijay Mohite) “สารพานช์” หรือผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้าน โมหิตยันเช วาดกาออน โดยมี จิเตนเดร์ ดูดิ (Jitender Dudi) หัวหน้าผู้บริหารการพัฒนาเขตในเขตสางคลี เป็นผู้นำแนวคิดของโมหิตมาใช้ให้เกิดผล

จายาวันต์ โมหิต (Jayawant Mohite) ซึ่งเกษียณอายุจากการสอนหนังสือที่โรงเรียนในหมู่บ้านกล่าวว่า เด็ก ๆ กลายเป็น “คนติดมือถือ” หลังจากเริ่มการล็อกดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้องเรียนออนไลน์โดยใช้โทรศัพท์มือถือในปี 2020 และว่า “นักเรียนเหล่านั้นหมกมุ่นอยู่กับโทรศัพท์มือถือเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง แม้ว่าชั้นเรียนออนไลน์จะจบลงไปแล้วในวันนั้นก็ตาม และเมื่อชั้นเรียนแบบปกติเริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้ว นักเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่ตั้งใจเรียนในชั้นเรียน และหมดความสนใจในวิชาการ”

โมหิตกล่าวต่อไปอีกว่า “หลังจากที่ได้พูดคุยกับครอบครัวของนักเรียน พบว่าเด็กนักเรียนยังคงใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานทั้งก่อนและหลังเลิกเรียน หลังจากที่มีการพูดคุยกับนักเรียนและครอบครัวไปแล้ว พวกเขาก็ยังไม่สามารถทำให้นักเรียนออกห่างจากโทรศัพท์มือถือได้ ในที่สุดทางโรงเรียนจึงแจ้งสถานการณ์ดังกล่าวนี้ต่อผู้ใหญ่บ้านของแต่ละพื้นที่

บรรดาคุณครูในหมู่บ้านที่มีความกังวลในเรื่องนี้ยังบอกกับผู้ใหญ่บ้านโมหิตว่า หากนักเรียนมีพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไปหรือใช้ในทางที่ผิด ๆ โดยที่ไม่ได้รับการควบคุมอย่างทันท่วงที จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของนักเรียนอย่างแน่นอน

นายแพทย์ เจ อาร์ ราม (J.R. Ram) จิตแพทย์ที่กัลกัตตากล่าวว่า "การให้เด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอและสื่อดิจิทัลมากเกินไปอาจส่งผลเสียมากมายหลายประการ แต่ในช่วงของการระบาดใหญ่ การที่ต้องให้เด็กอยู่แต่กับบ้านทำให้ผลกระทบดังกล่าวแพร่ขยายมากขึ้น" ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของนักเรียน

จิตแพทย์รายนี้เสริมด้วยว่า “การท่องอินเทอร์เน็ต คือการทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันทำให้นักเรียนไม่มีสมาธิเป็นเวลานาน ๆ ในขณะที่เรียนหนังสือ” “พวกเขาคุ้นเคยกับการเลื่อนดูโซเชียลมีเดีย ดูวิดีโอ และแลกเปลี่ยนข้อความระหว่างที่เรียน สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อความรู้ความเข้าใจหรือความสามารถในการคิดได้”

ผู้ใหญ่บ้านโมหิต บอกกับวีโอเอว่าเขาได้จัดประชุมร่วมกับผู้นำหมู่บ้านคนอื่นๆ และเริ่มวางแผนกลยุทธ์เพื่อหยุดการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดและใช้มากเกินไปของนักเรียนแล้ว

โมหิตกล่าวว่า “ผู้นำบางคนกล่าวว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแยกเด็กออกจากโทรศัพท์มือถือ พร้อมทั้งบอกว่าพวกเขาไม่เคยได้ยินว่ามีชุมชนใด ๆ ที่ประสบความสำเร็จในแนวคิดดังกล่าว และมีผู้นำหลาย ๆ คนที่บอกว่าเราควรพยายามทำอะไรซักอย่าง เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ดังนั้นหากล้มเหลวก็ไม่เป็นไร

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านต้องพ่ายแพ้ให้แก่โครงการสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันซึ่งร่วมจัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกหมู่บ้าน ครูที่เกษียณอายุ คนงานอังกันวาดี หรือศูนย์ดูแลเด็กในชนบท และสมาชิกของ Accredited Social Health Activist ซึ่งเป็นเครือข่ายบริการสุขภาพชุมชนทั่วประเทศหรือ ASHA ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนที่เป็นผู้หญิง

ทั้งนี้ ผู้หญิงในหมู่บ้านมีบทบาทสำคัญในโครงการ digital detox

เจ้าหน้าที่ของ ASHA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการชักชวนชาวบ้านให้ยอมรับแนวคิดของการ digital detox เป็นผู้หญิงในท้องถิ่นที่ได้รับการฝึกอบรมเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพในชุมชนของตน ตามรายงานของสถาบันสุขภาพและสวัสดิการแห่งชาติอินเดีย

และในตอนนี้ digital detox หรือการงดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประจำวันถือเป็นแนวทางที่กำหนดให้ชาวบ้านในหมู่บ้านโมหิตยันเช วาดกาออนปฏิบัติ โดยมีทีมงานในท้องถิ่นคอยดูแลให้ชาวบ้านทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

“ในเดือนสิงหาคม เจ้าหน้าที่ของหมู่บ้านได้ประกาศขอให้ชาวบ้านงดใช้โทรศัพท์มือถือ งดดูทีวี วันละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง และในวันที่ 15 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันประกาศอิสรภาพของอินเดีย เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ชาวบ้านรู้จักกับโครงการ Digital Detox

ในช่วงแรกบางครอบครัวไม่ให้ความร่วมมือ แต่เพื่อนบ้านของพวกเขาจะรายงานให้ผู้นำหมู่บ้านทราบ และอาสาสมัครก็จะไปถึงบ้านของครอบครัวเหล่านั้นทันทีเพื่อโน้มน้าวให้พวกเขาปฏิบัติตาม

วีเจย์ โมหิต ทิ้งท้ายกับวีโอเอว่า ตอนนี้ทุกครอบครัวในหมู่บ้านปฏิบัติตามกฎ digital detox ของหมู่บ้านแล้ว

  • ที่มา: วีโอเอ
XS
SM
MD
LG