ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อินเดีย-จีน อนุมัติวัคซีนโควิด ‘แบบไร้เข็ม’ สองชนิด


COVAXIN
COVAXIN

ทางการจีน อนุมัติวัคซีนโควิดแบบไร้เข็มสองรูปแบบ ทั้งแบบสเปรย์ฉีดจมูกและแบบยาพ่น ขณะที่ อินเดียอนุมัติการใช้วัคซีนโควิดในรูปแบบสเปรย์พ่นจมูก ของบริษัทภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ในวันอังคาร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่เข้ารับวัคซีนในรูปแบบเข็มฉีดดั้งเดิม ตามรายงานของเอพีและรอยเตอร์

วัคซีนแบบสเปรย์พ่นจมูกของอินเดีย ได้รับการพัฒนาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Washington University วิทยาเขตเซนต์หลุยส์ และขึ้นทะเบียนโดยบริษัทภารัต ไบโอเทค โดยมีการทดสอบสองครั้ง ด้วยการใช้วัคซีนจำนวนสองโดสกับอาสาสมัครที่ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิดมาก่อน 3,100 คน และให้วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนบูสเตอร์กับอาสาสมัครอีก 875 คน ที่เคยได้รับวัคซีนโควิดแบบดั้งเดิมชนิดสองเข็มมาแล้ว

ทางการอินเดียอนุมัติการใช้วัคซีนรูปแบบใหม่นี้เพื่อการฉุกเฉินแล้วในวันอังคาร ตามรายงานของรอยเตอร์ โดยรัฐมนตรีสาธารณสุขอินเดีย ทวีตข้อความระบุว่า “นี่เป็นก้าวสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งในการต่อสู้กับโรคระบาด”

โดยอัตราการฉีดวัคซีนโควิดของอินเดียลดลงในช่วงหลายเดือนมานี้ ระหว่างที่ยอดติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้น ชาวอินเดียราว 940 ล้านคน หรือราว 67% ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อยสองเข็ม แต่มีเพียง 15% ที่เข้ารับวัคซีนบูสเตอร์

ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าวัคซีนรูปแบบสเปรย์พ่นจมูกจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ขณะที่ทางบริษัทเวชภัณฑ์อินเดีย ภารัต ไบโอเทค ไม่ได้เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนรูปแบบนี้

ด้านบริษัทคานสิโน ไบโอโลจิกส์ ประกาศในวันอาทิตย์ว่า ทางการจีนอนุมัติวัคซีนโควิด-19 แบบยาพ่น เพื่อใช้เป็นวัคซีนกระตุ้นภูมิ หรือ บูสเตอร์ โดยบริษัทได้เปิดเผยผลการศึกษาเบื้องต้นว่าวัคซีนรูปแบบดังกล่าวช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังการพ่นยาเพียงหนึ่งครั้ง แต่ยังไม่มีความชัดเจนถึงประสิทธิผลของวัคซีนแบบใหม่ และยังไม่ได้ระบุว่า วัคซีนแบบยาพ่นจะนำมาใช้ได้เมื่อใด

ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองยังเป็นรูปแบบเข็มฉีดอยู่ ซึ่งสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้คนนับล้าน และให้การป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ แม้จะมีการระบาดของโควิดกลายพันธุ์หลากหลายชนิดในตอนนี้ก็ตามที แต่การพัฒนาวัคซีนแบบไร้เข็มฉีด จะเป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มการป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัส โควิด-19 ซึ่งบริษัทคานสิโน เป็นหนึ่งในสองผู้พัฒนาวัคซีนรูปแบบนี้ ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก

  • ที่มา: เอพีและรอยเตอร์
XS
SM
MD
LG