ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฝนตกหนักเยียวยา ‘ชะตากรรมแม่น้ำโขง’ โยงเรียกร้องจีน ยุติสร้างเขื่อนในลาว


Cambodian fishermen working in Mekong River
Cambodian fishermen working in Mekong River

ในช่วงมรสุมที่ผ่านมา กัมพูชามีฝนตกหนักมากจนทำให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) สามารถประกาศว่า ภาวะแห้งแล้งทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโขง ที่เกิดขึ้นเกือบ 4 ปีได้สิ้นสุดลงแล้ว ขณะที่ ทางการกัมพูชายังรายงานว่า ปริมาณปลาที่จับขึ้นมาได้ในรอบปีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างล้นหลามด้วย

เจ้าหน้าที่กัมพูชากล่าวว่า รายงานที่ออกมาในช่วงต้นปีระบุว่า การจับปลาในปีนี้เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเป็นผลจากการปราบปรามการทำประมงแบบผิดกฎหมายและการห้ามจับปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ในช่วงฤดูวางไข่

อย่างไรก็ตาม ชาวประมงในหมู่บ้านหลายคนบ่นว่า การจับปลาของพวกเขายังคงมีปริมาณน้อย เมื่อเทียบกับช่วง 5-10 ปีก่อน ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนต้นน้ำอย่างไม่หยุดหย่อนและการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

ฮุก อุดม คนขายปลาที่ทำงานใกล้ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่นอกกรุงพนมเปญ กล่าวว่า ชาวจาม ที่มีเชื้อสายเวียดนามและเป็นชาวมุสลิม ซึ่งแต่เดิมต้องพึ่งพาการจับปลาเพื่อเลี้ยงชีพ ยังคงเผชิญภาวะความยากลำบากอยู่

Hoek Oudom, fish seller
Hoek Oudom, fish seller

ฮุก อุดม กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันแตกต่างจากเมื่อก่อน เพราะตอนนี้ไม่มีปลาให้จับได้มากนัก ชาวเวียดนามและชาวจามส่วนใหญ่จับได้ไม่เยอะและจำนวนปลาไม่มากเหมือนก่อนหน้าด้วย

ส่วน เทียง มาการะ ซึ่งมีอาชีพทำประมง ให้สัมภาษณ์ขณะที่จอดเรือของเขาไว้ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงทางตะวันออกของกรุงพนมเปญ บอกว่า แต่ก่อน ตนเคยเป็นผู้เลี้ยงดูภรรยาด้วยการจับปลา แต่ตอนนี้ภรรยาที่ทำงานเป็นแม่ครัวกลับมีรายได้ที่ดีกว่าแล้ว

Taing Makara, Cambodian fisherman
Taing Makara, Cambodian fisherman

เทียง มาการะ อธิบายว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนแล้ว ตนแทบจะจับปลาไม่ได้เลย ทำให้ทำมาหากินได้ยากมาก โดยเขาประเมินว่า ปลาที่เขาจับได้ลดลงราวครึ่งหนึ่งจากเมื่อก่อน และวิเคราะห์ด้วยว่า “ที่เราไม่มีปลา เพราะเส้นทางน้ำไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และมันก็เป็นอุปสรรคต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลา”

ทั้งนี้ การสร้างเขื่อนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของจีนและภาคพื้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการขับเคลื่อนการพัฒนาให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว

ศูนย์สติมสัน (Stimson Center) ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง กล่าวว่า ระดับน้ำในลำน้ำโขงนั้นได้กลับสู่ระดับต่ำตามปกติสำหรับช่วงเวลานี้ของปี เนื่องจากฤดูแล้งใกล้ถึงจุดรุนแรงที่สุดแล้ว

ศูนย์ดังกล่าวยังกล่าวด้วยว่า ภาวะแล้งอาจจะสิ้นสุดลงในแถบแม่น้ำโขงตอนล่าง แต่บริเวณภาคเหนือของไทย ลาว และทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนยังคงเผชิญกับความแห้งแล้ง และแม่น้ำยังต้องการน้ำฝนในปริมาณปกติอีกราวสองถึงสามปี ก่อนจะฟื้นตัวได้เหมือนเก่า

Dam construction near Mekong
Dam construction near Mekong

ข้อมูลจากศูนย์สติมสัน ระบุว่า มีการสร้างเขื่อนอีก 118 แห่งตามแนวแม่น้ำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของทางน้ำซึ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยประเด็นสำคัญก็คือ มีเขื่อนจำนวน 11 แห่งที่ปิดกั้นลำน้ำสายหลัก และยังมีการวางแผนที่จะสร้างอีก 3 เขื่อนในลำน้ำหลักใกล้กับเขื่อนขนาดใหญ่ในไซยะบุรีทางตอนเหนือของลาวด้วย

ขณะเดียวกัน ลาวและจีนกล่าวว่า บันไดปลาที่สร้างขึ้นภายในเขื่อนนั้นได้ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการอพยพและจำนวนของปลา และยังช่วยทำให้มีปริมาณน้ำไหลอย่างสม่ำเสมอในช่วงหน้าแล้งแล้ว

ทอม ฟอว์ธรอป ผู้สร้างภาพยนตร์จากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลิตสารคดีชื่อ A River Screams for Mercy ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสภาพการณ์อันยากลำบากของแม่น้ำโขง กล่าวว่า ไม่มีใครสนใจฟังคำเตือนเกี่ยวกับปัญหาของลำน้ำสายหลักนี้เลย

Tom Fawthrop, filmmaker
Tom Fawthrop, filmmaker

ฟอว์ธรอป กล่าวว่า มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่เตือนทุกคนว่า จะเกิดผลกระทบอย่างไร ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การสร้างเขื่อนต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงก็ยังเกิดขึ้น อย่างเช่น เขื่อนไซยะบุรี ที่ส่งผลต่อทั้งเกษตรกร ชาวประมง และชุมชนต่าง ๆ ซึ่งต่างร้องเรียนว่า วิถีชีวิตการจับปลาเพื่อยังชีพนั้น ส่วนใหญ่ถูกทำลายลงไปสิ้น

Dam construction map on Mekong
Dam construction map on Mekong

รายงานทางวิทยาศาสตร์ข้างต้น ยังระบุถึงการคาดการณ์จากศูนย์เตือนภัยแผ่นดินไหวและสึนามิของเวียดนาม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกรุงเทพฯ ที่ชี้ว่า น้ำหนักของเขื่อนในภาคเหนือของลาวอาจยิ่งเพิ่มความน่าจะเป็นของการเกิดแผ่นดินไหวในภูมิภาค ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดแผ่นดินไหวอยู่แล้วด้วย

ในความคิดของฟอว์ธรอป เขามองว่า ผู้คนยังไม่ได้ให้ความสนใจที่มากพอต่อภัยคุกคามจากแผ่นดินไหวในพื้นที่ตอนเหนือของลาว ขณะที่ เขื่อนใหม่ ๆ เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดแผ่นดินไหว

ฟอว์ธรอป กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมสุดยอดของผู้นำจากประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ไทย เวียดนาม และลาว ที่มีวาระการประชุมเกี่ยวกับชะตากรรมของแม่น้ำโขงในเดือนเมษายนนี้ ทุกฝ่ายควรมีการรับรู้ถึงเสียงเรียกร้องให้ยุติการสร้างเขื่อนที่กระทบสายน้ำนี้เสียที

  • ที่มา: วีโอเอ

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG