ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ลาวปกป้องแผนสร้าง 'เขื่อนหลวงพระบาง' ยืนยันผลักดันประเทศสู่ 'แบตเตอรีแห่งเอเชีย'


A yellow flag marks the site on the Mekong River in northern Laos where the government plans to build the Luang Prabang hydropower dam. (Zsombor Peter/VOA)
A yellow flag marks the site on the Mekong River in northern Laos where the government plans to build the Luang Prabang hydropower dam. (Zsombor Peter/VOA)
please wait

No media source currently available

0:00 0:03:52 0:00


รัฐบาลลาวบอกปัดความกังวลของประเทศเพื่อนบ้านและนักปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่เกรงว่าโครงการสร้างเขื่อนแห่งใหม่กั้นแม่น้ำโขงอาจทำลายวิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งโขงตอนล่าง ระหว่างการประชุมที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐบาลลาวประกาศแผนเดินหน้าสร้างเขื่อนหลวงพระบางซึ่งจะนับเป็นเขื่อนแห่งที่ 5 จากทั้งหมด 9 แห่ง ตามโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและยกระดับลาวให้เป็น "แบตเตอรีแห่งเอเชีย" โดยเขื่อนแห่งแรกในโครงการนี้ คือเขื่อนไซยะบุรี เริ่มการผลิตไฟฟ้าแล้วเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

สำหรับเขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวน 9 แห่ง โดยคาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ราว 1,460 เมกะวัตต์

แต่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเตือนว่า โครงการสร้างเขื่อนเหล่านี้จะทำให้ปลาหายไปจากแม่น้ำโขง และทำให้ตะกอนดินไม่สามารถผ่านลงไปถึงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกข้าวที่อุดมสมบูรณ์ของเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง หรือ MRC คือ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่กรุงเวียงจันทน์ รัฐบาลลาวพยายามเสนอแนวทางผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำแนวทางที่ใช้กับเขื่อนไซยะบุรีซึ่งประสบผลสำเร็จตามที่คาดไว้ มาใช้กับเขื่อนหลวงพระบางด้วย

แนวทางดังกล่าวคือการสร้างทางปลาผ่านเชื่อมกับช่องยกระดับปลา หรือ ลิฟต์ปลา และกังหันปลา เพื่อช่วยให้ปลาสามารถว่ายทวนน้ำไปวางไข่ที่ต้นแม่น้ำโขงได้

เขื่อนหลวงพระบางมีบริษัทปิโตรเวียดนาม (PetroVietnam) ของทางการเวียดนามเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า และคาดว่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ในปี ค.ศ.2027 สำหรับใช้ในเวียดนามและไทยเป็นหลัก

ถึงกระนั้น สถาบันการประมงของเวียดนามเองก็ยังไม่แน่ใจว่าการใช้ทางปลาผ่านจะได้ผลจริงหรือไม่?

นอกจากนี้ยังมีความกังวลในหมู่ประเทศสมาชิก MRC เกี่ยวกับความโปร่งใสของโครงการ และการกำหนดเวลาเพื่อตรวจสอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จากโครงการนี้ เนื่องจากเวลา 6 เดือนที่รัฐบาลลาวกำหนดไว้ว่าจะเริ่มการก่อสรา้งเขื่อนหลวงพระบางนั้น อาจจะกระชั้นเกินไป

คุณกล วัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงของกัมพูชา กล่าวว่า การขาดแคลนเอกสารที่แปลเป็นภาษาเขมรยิ่งทำให้การตรวจสอบและทบทวนโครงการนี้ภายในเวลา 6 เดือน แทบเป็นไปไม่ได้

ด้านองค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ วิจารณ์ว่า ที่ผ่านมากระบวนการตรวจสอบผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบางมิได้รวมเอาตัวแทนของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเข้าไว้ด้วย นอกจากนี้รัฐบาลลาวยังมีท่าทีเพิกเฉยต่อความกังวลของเพื่อนบ้าน และเพิกเฉยต่อคำร้องให้มีการปรึกษาทบทวนเพิ่มเติมในเรื่องนี้

ขณะที่คุณโส นาม ประธานเจ้าหน้าที่จัดการด้านสิ่งแวดล้อมของ MRC กล่าวว่า เอกสารการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางที่ทางการลาวส่งมาให้กับ MRC นั้นยังขาดรายละเอียดสำคัญหลายอย่าง รวมทั้งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ การทำงานของกังหันปลา และค่าชดเชยที่จะให้กับชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงของลาว จันทเนตร บัวลาภา กล่าวว่า รัฐบาลลาวกำลังพยายามที่จะปรับปรุงการทำงานในเรื่องนี้ และต้องการคำแนะนำจากทุกฝ่ายเพื่อพัฒนาโครงการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง เพื่อที่คนรุ่นต่อไปในอีก 20 - 30 ปีข้างหน้าจะไม่ตำหนิว่าเป็นความผิดของรัฐบาลลาว

ถึงกระนั้น ดูเหมือนคำกล่าวของผู้แทนจากลาวจะยังไม่เพียงพอสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ต่อต้านโครงการนี้ได้แต่อย่างใด

XS
SM
MD
LG