ลิ้งค์เชื่อมต่อ

กัมพูชาชะลอโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่แม่น้ำโขง 10 ปี


FILE - A general view of the Cambodia's 400 megawatt Lower Sesan 2 hydroelectric dam is seen during the inauguration in Stung Treng province, Dec. 17, 2018.
FILE - A general view of the Cambodia's 400 megawatt Lower Sesan 2 hydroelectric dam is seen during the inauguration in Stung Treng province, Dec. 17, 2018.
please wait

No media source currently available

0:00 0:04:37 0:00

ผู้สันทัดกรณีตอบรับการตัดสินใจของรัฐบาลกัมพูชาที่จะชะลอการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบริเวณแม่น้ำโขง ไปอีก 10 ปีจากนี้

วิคเตอร์ โจนา โฆษกของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา บอกกับวีโอเอเมื่อวันอังคารว่า กัมพูชาไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่แม่น้ำโขงสายหลักไปจนถึงปี ค.ศ. 2030

นั่นหมายความว่าโครงการสองแห่งคือเขื่อน Sambor และเขื่อน Stung Treng จะถูกชะลอออกไป

อย่างไรก็ตาม โฆษก วิคเตอร์ โจนา กล่าวว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้า 80 เมกกะวัตต์ที่จังหวัด Stung Pursat จะยังคงเดินหน้าตามแผนการก่อสร้างเดิม

นักอนุรักษ์ธรรมชาติกล่าวว่า การชะลอการสร้างเขื่อนที่ลำน้ำโขงของกัมพูชา ช่วยลดปัญหาต่อระบบนิเวศได้ไม่น้อย และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ช่วงเวลา 10 ปีจากนี้ สามารถถูกใช้เพื่อการศึกษาแหล่งพลังงานทางเลือกอื่นๆ

มอรีน แฮร์ริส ผู้อำนวยการโครงการ Programs at International Rivers เพื่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำ กล่าวว่า เป็นข่าวดีที่กัมพูชาชะลอการสร้างเขื่อนครั้งนี้ เพราะช่วยให้เเม่น้ำโขงลดผลร้ายจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่มีต่อการประมงและลดความเสี่ยงต่อพื้นที่ราบที่มีน้ำท่วมขังได้ง่าย

เธอกล่าวว่า ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้รับผลเสียมามากแล้วจากการสร้างเขื่อนในลาวและจีน รวมถึงผลกระทบจากปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การชะลอการสร้างเขื่อนสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของเเนวทางผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำบริเวณลำน้ำโขง

ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์ Stimson Center กล่าวว่า สัญญาณที่ชัดเจนจากการตัดสินใจครั้งนี้ของกัมพูชาคือ เขื่อนในแม่น้ำโขงเป็นโครงการที่ล้าสมัยและผลิตไฟฟ้าได้ต่ำกว่าที่คาด ปัญหาประการหนึ่งมาจากระดับน้ำที่ต่ำในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ขาดพลังงานส่งไปยังเครื่องผลิตไฟฟ้าจนเกิดไฟดับเป็นเวลาหลายเดือน

เขาเสริมว่า ประเทศเพื่อนบ้านของกัมพูชา เช่น ลาว ซึ่งมีแผนสร้างเขื่อนที่หลวงพระบางปีนี้ น่าจะได้รับสัญญาณเตือนเช่นกัน ถึงจุดอ่อนของโครงการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนที่เเม่น้ำโขง ไม่ว่าจะมองจากมุมทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือสิ่งเเวดล้อม

อย่างไรก็ตาม วิคเตอร์ โจนา โฆษกของกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชา กล่าวว่า การตัดสินใจชะลอโครงการไป 10 ปีครั้งนี้ มาจากเหตุผลที่ว่าการผลิตไฟฟ้าในกัมพูชาขณะนี้เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้า และเขาบอกว่า การชะลอโครงการไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยด้านสิ่งเเวดล้อม

นอกจากนี้หากเกิดความต้องการไฟฟ้ามากขึ้น กัมพูชาสามารถซื้อไฟฟ้าจากลาวได้

วิคเตอร์ โจนา กล่าวว่า ทางการกัมพูชาจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหิน ในอนาคต ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ได้รับการอนุมัติจากสภานิติบัญญัติที่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสองแห่งซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 900 เมกกะวัตต์

ในเรื่องนี้ นักวิเคราะห์ คอร์ทนีย์ เวเธอร์บี แห่งศูนย์ Stimson Center กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเเน่นอนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง มากกว่าเขื่อนที่ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ แต่ถ่านหินสร้างปัญหาด้านสิ่งเเวดล้อมระยะยาว เพราะพลังงานชนิดนี้ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก

เธอกล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาควรมองหาพลังงานสะอาดจากแหล่งอื่น และระบุว่า ในทางทฤษฎี กัมพูชามีโอกาสผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ 8,000 เมกกะวัตต์ และจากพลังลมได้ 6,500 เมกกะวัตต์

ทั้งนี้ รัฐบาลเขมรกำลังศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการผลิตไฟฟ้าพลังงานเเสงอาทิตย์มากขึ้น จากปัจจุบันที่คิดเป็นร้อยละ 10 ของการผลิตไฟของประเทศ เทียบกับร้อยละ 36 ที่เป็นไฟฟ้าจากเขื่อน

XS
SM
MD
LG