ความสนใจในเรื่องสถาบันกษัตริย์ ทำให้เกิดการศึกษาประวัติและบทบาทของสถาบันเก่าแก่นี้โดยผู้เชี่ยวชาญในอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีประสบการณ์เด่นชัดในการสร้างความสัมพันธ์กับราชวงศ์หลายประเทศ
เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม สถาบัน Chicago Council on Global Affairs ในนครชิคาโก จัดสัมมนาทางออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ The Curious Resilience of Modern Monarchies ระหว่างนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องสถาบันกษัตริย์ในประเทศอังกฤษ ซาอุดิอาระเบีย และประเทศไทย จากทั้งหมด 44 ประเทศ ในปัจจุบันที่ปกครองโดยมีสถาบันกษัตริย์
ผู้สันทัดกรณีเหล่านี้พูดถึงบทบาท อำนาจของกษัตริย์ในโลกสมัยใหม่ และความสัมพันธ์ของราชวงศ์ในการเมืองการปกครอง พร้อมหาคำตอบว่า สถาบันกษัตริย์ยังคงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างไร โดยเฉพาะหลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยไปทั่วโลก ในยุคหลังสงครามเย็น
แอนนา ไวท์ล็อค (Anna Whitelock) ผู้อำนวยการร่วมศูนย์ศึกษาสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ (Center for the Study of the Modern Monarchy) แห่งมหาวิทยาลัยรอยัล ฮอลโลเวย์ มหาวิทยาลัยลอนดอน (Royal Holloway, University of London) กล่าวว่า สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2 เคยตรัสไว้ว่า ถึงแม้ระบอบกษัตริย์ที่มีการสืบราชสันตติวงศ์ จะดูแตกต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งราวฟ้ากับดิน แต่ในความเป็นจริง ความแตกต่างหรือช่องว่างนั้นไม่ได้ห่างกันมากอย่างที่คิด ระบอบกษัตริย์และรัฐบาลเป็นสองสถาบันที่ส่งเสริมกันและกัน และมีหน้าที่เฉพาะตนที่ต้องทำ
พระองค์ตรัสว่าทั้งสองสถาบันดำรงอยู่ได้จากการสนับสนุนและยินยอมของสังคม ซึ่งดัชนีชี้วัดการสนับสนุนและยินยอมของสังคมในตัวรัฐบาลนั้น เห็นได้ชัดเจนกว่าเพราะมีการเลือกตั้ง แต่สำหรับราชวงศ์นั้นยากยิ่งกว่า เพราะต้องใช้ความพยายามจับสัญญาณและอ่านกระแสจากคนในสังคม
ไวท์ล็อคมองว่า พระราชดำรัสของควีนอลิซาเบธที่ 2 คือการกล่าวเป็นนัยว่า การดำรงอยู่ของราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนและยินยอมจากผู้คนในสังคม
กฤติกา วารากูร์ (Krithika Varagur) ผู้สื่อข่าวและคอลัมนิสต์สื่อสหรัฐฯ The Wall Street Journal ซึ่งมีประสบการณ์เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ กล่าวว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ซาอุดิอาระเบียเป็นสถาบันที่มีอำนาจมากที่สุดสถาบันหนึ่งในโลกสมัยใหม่ และสามารถหักล้างคำทำนายของ แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel Huntington) นักรัฐศาสตร์อเมริกันที่ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องถ่ายโอนอำนาจบางส่วนไปสู่กระบวนการทางรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาสถาบันให้คงอยู่ต่อไป แต่หลายประเทศอาหรับ พิสูจน์ให้เห็นว่าต่อให้ไม่ถ่ายโอนอำนาจ สถาบันกษัตริย์ก็ยังรักษาความมั่นคงไว้ได้
“ในกรณีของซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถือเป็นประเทศอายุน้อยประเทศหนึ่ง สถาบันกษัตริย์ยังอยู่ได้ เพราะสถาบันทำหน้าที่จัดสรรสวัสดิการ ทำหน้าที่เสมือนเป็นรัฐฯ (state-like functions) ในการดูแลปากท้องและความต้องการของประชาชน...โดยที่ไม่จำเป็นต้องต่อรองกับประชาชน หรือยินยอมให้มีการเลือกตั้ง ให้มีประชาธิปไตย หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมใด ๆ ก็ได้” วารากูร์กล่าว
นอกจากนี้ ประชาชนในซาอุดิอาระเบียต่างมีงานทำ และได้รับผลประโยชน์จากความร่ำรวยของซาอุดิอาระเบียในฐานะประเทศผู้ผลิตน้ำมัน และยังได้รับประกันสุขภาพฟรี ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนในหลายประเทศในโลกตะวันตกไม่มี
แต่ในขณะเดียวกัน วารากูร์กล่าวว่าราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย เป็นราชวงศ์ที่กดขี่ปราบปรามและไม่เปิดโอกาสให้มีการแข็งขืนหรือเห็นต่าง
“ดังนั้น เมื่อเรานำสองปัจจัยนี้มารวมกัน คือการที่ราชวงศ์เป็นผู้จัดหาและเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นรัฐบาล ในขณะเดียวกันก็รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยที่ไม่ต้องห่วงว่าจะเกิดผลกระทบใด ๆ ตามมา ส่วนหนึ่งเพราะความสำคัญ (ของซาอุดิอาระเบีย) ต่อประชาคมโลก และส่วนหนึ่งเพราะการมีพันธมิตรในประเทศโลกตะวันตก จึงทำให้มองไม่เห็นจุดจบของระบอบกษัตริย์ (ในซาอุดิอาระเบีย) แต่อย่างใด” วารากูร์กล่าว
ส่วน ศาสตราจารย์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ผู้ศึกษาและทำงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ คือการรักษาอำนาจและความสำคัญในระบอบของไทยได้ ท่ามกลางลักษณะการปกครองที่มีการกดขี่ (repression) และการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ (authoritarianism)
“สิ่งที่สำคัญประการหนึ่ง คือการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีบทลงโทษผู้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีโทษสูงสุดถึง 15 ปี”
ศ.ฮาเบอร์คอร์นกล่าวด้วยว่า บางครั้งมีบทลงโทษสูงถึง 35 ปี ต่อการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกธรรมดาทั่วไป เช่น การโพสต์ในเฟสบุ๊ค การพ่นสีสเปรย์เป็นภาพกราฟฟิตี้บนผนังห้องน้ำ หรือการแสดงละครเวที ก็สามารถนำไปสู่การลงโทษได้
พอล โพสท์ (Paul Poast) รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) ผู้ดำเนินรายงาน มองว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์พิเศษกับประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ โพสท์จึงตั้งคำถามว่าการที่สหรัฐฯ ซึ่งถูกมองว่าเป็นป้อมปราการของการปกครองระบอบประชาธิปไตย สานสัมพันธ์หรือสนับสนุนประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ที่กดขี่ข่มเหง หรือจำกัดเสรีภาพของประชาชน บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ
กฤติกา วารากูร์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Call: Inside the Global Saudi Religious Project ให้ความเห็นว่า เธอไม่แปลกใจที่สหรัฐฯ จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับราชวงศ์ในประเทศกลุ่มอ่าวอาหรับบางประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย เพราะซาอุดิอาระเบียถือเป็นประเทศที่มีความมั่นคงประเทศหนึ่ง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่ต้องเผชิญความท้าทายทางการเมืองต่าง ๆ การเจรจาและการสานสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียจึงง่ายกว่า และเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันหลายอย่าง เช่น เรื่องน้ำมัน หรือความมั่นคงในภูมิภาค
“การสร้างสัมพันธ์กับประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายมาก ในเมื่อสหรัฐฯ เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีไพ่หลายใบในมือ สหรัฐฯ จำเป็นต้องใช้ไพ่หรือเครื่องมือเหล่านั้นคอยกดดันให้ประเทศที่มีปัญหา ปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชน” วารากูร์กล่าว
โดยเธอยกตัวอย่างกรณีการสังหารนายจามาล คาชอกกี (Jamal Khashoggi) คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ผู้เขียนบทความวิจารณ์ราชวงศ์ซาอุฯ ซึ่งเธอเห็นว่าสหรัฐฯ ควรจะใช้ไพ่ในมือกดดันให้ซาอุดิอาระเบียรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว
ต่อคำถามของ รศ.พอล โพสท์ ผู้ดำเนินรายการ ที่ว่าจะต้องทำอย่างไรสถาบันกษัตริย์จึงจะยุติบทบาททางการเมือง หรือการเป็นผู้เล่นการเมืองได้นั้น แอนนา ไวท์ล็อค ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์อังกฤษ มองว่า ตราบใดที่สถาบันกษัตริย์ยังดำรงตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐ หรือ head of state อยู่ สถาบันก็จะยังต้องมีบทบาททางการเมืองต่อไป โดยไม่สามารถถอดบทบาทดังกล่าวออกไปได้ เพียงแต่จะต้องดูว่าสถาบันกษัตริย์จะมีบทบาททางการเมืองมากหรือน้อยเพียงใด
ด้านกฤติกา วารากูร์ กล่าวว่าเธอมองไม่เห็นอนาคตของซาอุดิอาระเบียที่ปราศจากระบอบกษัตริย์
“ที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่ามีสองวิธีใหญ่ ๆ ที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองหรือรัฐบาลในภูมิภาคนี้ หนึ่งคือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน เช่น การลุกฮือของประชาชนในลักษณะอาหรับสปริง (Arab Spring) ซึ่งสถาบันกษัตริย์แทบจะในทุกประเทศในภูมิภาคนี้สามารถต่อต้านไว้ได้ หลัก ๆ เพราะพวกราชวงศ์มีเครื่องมือสมัยใหม่เอาไว้ปราบปรามผู้เห็นต่างและมีการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ อีกวิธีหนึ่งในการเปลี่ยนรัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางคือในกรณีที่อเมริกานำกำลังบุกรุก ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ว่าไม่ใช่วิธีที่ได้ผลดีนักไม่ว่ากับประเทศใดก็ตาม”
ในส่วนของประเทศไทย ศ.ฮาเบอร์คอร์นมองว่าเธอไม่คิดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองครั้งใหญ่ แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการหาความชัดเจนให้ได้ว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาททางการเมืองในทางใดบ้าง
“สถาบันของไทยมีบทบาททางการเมืองมาก แต่ด้วยความที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และความสัมพันธ์ระหว่างสถาบัน กับกองทัพและตุลาการ การหาคำตอบที่แน่ชัดว่าสถาบันเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไรบ้างจึงไม่สามารถทำได้ในขณะนี้” ศ.ฮาเบอร์คอร์นกล่าว
เมื่อถูกถามถึงประเด็นที่ว่า ประชาชนทั่วไปมีความคิดเห็นเปลี่ยนไปอย่างไรต่อสถาบันกษัตริย์ในช่วง 10-30 ปีที่ผ่านมา และสถาบันกษัตริย์ได้รับความนิยมมากขึ้นหรือน้อยลงเพียงใด
ศ.ฮาเบอร์คอร์นมองว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปีที่ผ่านมา ที่เยาวชนคนหนุ่มสาวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน หลังการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งผู้เรียกร้องคำถามที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันในการเมือง ทำให้คนที่ตั้งคำถามเหล่านี้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาต่าง ๆ
“ฉันคิดว่าไม่ว่าจะมีการตั้งข้อหาดำเนินคดีต่อนักเคลื่อนไหวเหล่านี้มากน้อยเพียงใด ก็จะยังมีการเคลื่อนไหวต่อไป” ซึ่งเธอมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปคิดเห็นอย่างไรต่อสถาบัน
กฤติกา วารากูร์ ผู้สื่อข่าว The Wall Street Journal มองว่าสถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศอาหรับมีความสามารถพอที่จะจัดสรรสวัสดิการและดูแลคนในประเทศ และมีการตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเธอยกตัวอย่างการที่มกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบียโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) ที่ยกเลิกตำรวจศาสนาที่ไม่ได้รับความนิยมในสังคม และยังสร้างงาน พร้อมหยิบยื่นเสรีภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนให้แก่ชาวซาอุฯ รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะพระองค์เองก็เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียล นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่สถาบันกษัตริย์ยังมีบทบาทและคงอยู่มาได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายของซาอุดิอาระเบียนั้นไม่ใช่เรื่องเล็ก การวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน หรือแม้แต่การแสดงความไม่เห็นด้วยเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอที่จะนำไปสู่บทลงโทษที่รุนแรง การทรมาน การจับเข้าคุก หรือการลงโทษที่เลวร้ายกว่านั้นได้ วารากูร์จึงมองว่า ถึงแม้มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน จะได้รับความนิยมจากประชาชน แต่สไตล์ของพระองค์นั้น อาจจะทำให้ทรงลงมือทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดหรือไม่เป็นที่นิยมอย่างมากได้ในอนาคต
ในส่วนของราชวงศ์อังกฤษนั้น แอนนา ไวท์ล็อคมองว่า ปัญหาของราชวงศ์วินด์เซอร์ไม่กี่ปีมานี้ คือการมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดปัญหาตามมามากขึ้นเช่นกัน เมื่อเทียบกับราชวงศ์ขนาดเล็กที่สามารถจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า ราชวงศ์อังกฤษยังต้องจัดการกับเรื่องอื้อฉาวของเจ้าชายแอนดรูว์ หรือการแยกตัวออกจากราชวงศ์ของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าพระราชวังบัคกิงแฮมพร้อมและยินดีที่จะเปิดรับอนาคตใหม่มากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตามการสำรวจความคิดเห็นประชาชนล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่าราชวงศ์อังกฤษได้รับความนิยมอย่างมาก และคนส่วนใหญ่ยังให้การสนับสนุนอยู่
“นั่นอาจจะเป็นความนิยมในตัวสมเด็จพระราชินีนาถที่มีพระชนมพรรษามากแล้ว เพราะประชาชนรู้สึกว่าพวกเขารู้จักพระองค์มานานแสนนาน พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นอย่างดี แต่ความรู้สึกนั้นจะถูกส่งต่อไปยังสมาชิกราชวงค์คนอื่น ๆ หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป” ไวท์ล็อคกล่าว