ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ปุจฉา: จริงหรือไม่ ที่ว่า จีนสามารถกำจัดความยากจนในประเทศได้แล้ว


A man walks with an umbrella past a picture of Chinese President Xi Jinping on a street ahead of the National People's Congress (NPC), in Shanghai
A man walks with an umbrella past a picture of Chinese President Xi Jinping on a street ahead of the National People's Congress (NPC), in Shanghai
China Xi Poverty
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:31 0:00


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำจีนในปี ค.ศ. 2012 ประกาศริเริ่มโครงการกำจัดความยากจนสุดขีด (Extreme Poverty) ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 ตามที่ธนาคารโลกตั้งเป้าไว้ และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนได้จัดพิธีฉลองความสำเร็จของโครงการนี้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปยังผู้ชมทั่วประเทศผ่านช่องทางสื่อรัฐทุกแห่ง โดย ปธน.สี ระบุว่า รัฐบาลได้ลงทุนไปถึง 1.6 ล้านล้านหยวน หรือราว 246,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อต่อสู้กับภาวะยากจนในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ผู้นำจีนยังกล่าวด้วยว่า ตนนั้นย้ำมาเสมอ “เรื่องการมุ่งดูแลปัญหาความยากจนที่แท้จริง (Real Poverty) การทำความเข้าใจเกี่ยวกับความพยายามอันแท้จริงในการลดภาวะยากจน การช่วยเหลือผู้ที่ยากจนจริงๆ และการบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนอย่างแท้จริง” พร้อมระบุว่า ในเวลานี้ “ประชาชนจำนวน 98.99 ล้านคน ที่ถือเป็นประชากรในพื้นที่ห่างไกลที่ยากจนนั้น ได้หลุดพ้นจากภาวะยากจนแล้ว”

สื่อ The People’s Daily ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชี้ว่า รัฐบาลกรุงปักกิ่งนั้นถือว่าประสบความสำเร็จด้วย “ก้าวกระโดดครั้งประวัติศาสตร์” ในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศได้แล้ว

รายงานข่าวระบุว่า สิ่งที่ ปธน.จีน นำเสนอออกมาก็คือ การยืนยันว่า ประชาชนจีนเกือบ 100 ล้านคนที่กล่าวถึงนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับ ที่สังคมจีนเรียกว่าเป็น “ความกังวล 2 ประการ” ซึ่งก็คือ คำถามที่ว่า “จะหาอาหารมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่จำเป็นมาได้อย่างไร” อีกต่อไปแล้ว โดยรัฐบาลจีนยังให้สัญญาว่า จะจัดหา “หลักประกัน 3 ประการ” อันประกอบด้วย บริการสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย และการศึกษา มาให้อีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้นำจีน สรรเสริญทีมผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์จีน และระบบการเมืองของประเทศ ว่าเป็นเสมือน “การรับประกันขั้นพื้นฐานต่อความเสี่ยง ความท้าทาย และความยากลำบากต่างๆ” ในการดำเนินนโยบายนี้

และเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงปักกิ่งเพิ่งเผยแพร่ “เอกสารว่าด้วยนโยบายอันดับ 1” ออกมา ที่สัญญาว่าจะเดินหน้านโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน พร้อมๆ กับการปรับเปลี่ยนบางอย่าง สำหรับช่วงเปลี่ยนถ่ายระยะ 5 ปี ไปยังจุดที่รัฐบาลเรียกว่าเป็น “การฟื้นฟูชนบท” ด้วย

The Global Times สื่อแทบลอยด์ของทางการจีน ระบุว่า ขณะที่ภารกิจลำดับถัดไปของรัฐบาลจีนตามนโยบายที่ว่านี้คือ การควบรวมและการขยาย “ความสำเร็จด้านการแก้ปัญหาความยากจน” ผู้เชี่ยวชาญบางราย ชี้ว่า ปัญหาหลักนั้นอยู่ที่ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดาลมีความสามารถที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตนเองมากกว่า

มาตรฐานความยากจน

สำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า เท่าที่ผ่านมา รัฐบาลกรุงปักกิ่ง อ้างอิงมาตรฐานธนาคารโลกสำหรับประเทศที่ยากจนที่สุดมาโดยตลอด แม้ว่า จีนจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงแล้วก็ตาม โดยจีนกำหนดว่า ภาวะยากจนสุดขีดนั้นหมายถึง การที่รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีนั้นไม่ถึง 620 ดอลลาร์ หรือวันละ 1.69 ดอลลาร์ ซึ่งอ้างอิงตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งต่ำยิ่งกว่าเกณฑ์ของธนาคารโลกที่วันละ 1.90 ดอลลาร์เสียอีก

อินเดอร์มิท กิลล์ นักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบัน บรูคกิงส์ (Brookings Institution) ให้ความเห็นไว้ว่า “ในปี 2021 นี้ ... การวัดอัตราความก้าวหน้า ด้วยการใช้เส้นแบ่งความยากจนอย่างเป็นทางการของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกมาเป็นมาตรฐานนั้น อาจถือว่าเป็นนิยามของคำว่า “ความสำเร็จที่ต่ำกว่าที่คาดไว้” ได้เลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน คาร์ล มินซ์เนอร์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการปกครองจีน จากวิทยาลัยกฎหมายฟอร์ดแฮม (Fordham Law School) บอกกับ สำนักข่าว บลูมเบิร์ก ว่า งานเฉลิมฉลองที่เพิ่งจัดขึ้นที่จีน “รวมทั้งแผนงานโฆษณาชวนช่วยที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ล้วนมุ่งเน้นไปที่การทำให้ สี จิ้นผิง มีภาพลักษณ์เสมือน ผู้บังคับบัญชาผู้นำชัยชนะมาสู่จีน ในการสงครามต่อสู้กับความยากจนที่ดำเนินมานานนับพันปี ทั้งยังช่วยให้ผู้นำจีนสามารถอ้างสิทธิ์ว่าเป็นผู้ทำให้นโยบายนี้สำเร็จเสร็จสิ้นด้วย” และ “จุดนี้น่าจะยิ่งช่วยขยายเครือข่ายอำนาจของ สี จิ้นผิง ให้แผ่กว้างออกไปอย่างมากมายได้อีก”

และเมื่อไม่นานมานี้ มาร์ติน ไรเซอร์ จากธนาคารโลก ให้สัมภาษณ์กับ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า ทางธนาคารฯ มั่นใจว่า จีนสามารถกำจัดความยากจนสัมบูรณ์ (Absolute Poverty) ในพื้นที่ชนบทอันห่างไกลได้สำเร็จ โดยดูจากกำลังทรัพยากรที่ลงไป แต่ธนาคารโลกมั่นใจไม่มากนักว่า ทุกอย่างทำไปจะยั่งยืน และบรรลุเป้าการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง

This aerial view shows people shopping for groceries at a farmers' market in Jishou, in central China's Hunan province.
This aerial view shows people shopping for groceries at a farmers' market in Jishou, in central China's Hunan province.

ข้อสงสัยนานับประการ

เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ระบุว่า ในการแก้ปัญหาความยากจนนั้น รัฐบาลจีนใช้วิธีสร้างงานเพื่อช่วยคนงานในพื้นที่ห่างไกล แจกจ่ายพันธุ์สัตว์ให้กับเกษตรกร และอัดฉีดเงินเข้าไปในพื้นที่ยากจน ในรูปแบบของ เงินกู้และเงินให้เปล่า ผ่านขั้นตอนการขอ การทบทวน และการอนุมัติ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับเมือง และระดับเขต

เงินที่อัดฉีดไปสู่ประชาชนที่ได้รับอนุมัตินั้น มีทั้งในรูปแบบเงินช่วยเหลือรายเดือนผ่านบัตรเดบิต เพื่อให้เบิกถอนเงินสดได้ตามต้องการ และเงินอุดหนุนชั่วคราวเพียงครั้งเดียว สำหรับจุดประสงค์เฉพาะ เช่น เพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น

หวง เสี่ยวหมิน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ์ในเมืองเฉิงตู มณฑลเสฉวน บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ภาคภาษาจีนกลางว่า ข้อมูลที่ ปธน.สี และเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงนำมาใช้อ้างอิงนั้น บางครั้งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง เช่น กรณีของประชาชนในเมืองเหอชู่ ในมณฑลเสฉวน ที่มีรายงานว่าได้รับสิทธิประโยชน์ด้านประกันสังคมและการรักษาจากรัฐ กลับกลายเป็นว่า จริงๆ แล้ว หลายครอบครัวได้รับเงินเพียงก้อนเดียวเพื่อแบ่งใช้กันในหมู่สมาชิกหลายคน แทนที่แต่ละคนจะได้รับเงินก้อนของตนเอง

หวง ยกตัวอย่างว่า เงินช่วยเหลือรายเดือนจากรัฐนั้น อยู่ที่ราว 42 ถึง 56 ดอลลาร์ แต่เมื่อกลับต้องนำมาแบ่งใช้ในครอบครัวที่มีสมาชิก 4 หรือ 5 คนแล้ว แต่ละคนกลับได้เงินเพียงคนละ 11 ดอลลาร์เพื่อใช้ทั้งเดือนเท่านั้น ซึ่งแปลว่า ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้คนๆ หนึ่งหลุดพ้นจากภาวะยากจนเลย

เขากล่าวว่า แรงกดดันจากรัฐบาลกลาง บรรดาคนจนไม่กล้าออกมาลงชื่อกันถ้วนหน้า ทำให้มีเพียงไม่กี่คนที่ได้รับเงิน ซึ่งหมายความว่า ข้อมูลที่รัฐบาลนำมาอ้างอิงนั้นเป็นข้อมูลไม่สมบูรณ์อย่างแน่นอน

หนทางสู่ความยั่งยืน

Chinese Premier Li Keqiang speaks on screen during a press conference by video conferencing at the end of the National People's Congress in Beijing on Thursday, May 28, 2020. China’s ceremonial legislature on Thursday endorsed a national security…
Chinese Premier Li Keqiang speaks on screen during a press conference by video conferencing at the end of the National People's Congress in Beijing on Thursday, May 28, 2020. China’s ceremonial legislature on Thursday endorsed a national security…

นอกจากนั้น คำประกาศของ ปธน.สี จิ้นผิง ที่มีออกมานั้น ยังขัดแย้งกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรี หลี เค่อเฉียง กล่าวไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว ที่ว่า มีชาวจีนกว่า 600 ล้านคนที่รายได้ต่อเดือนไม่ถึง 1,000 หยวน (ประมาณ 140 ดอลลาร์) ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับค่าเช่าห้องพักในเมืองต่างๆ ของจีนเลย

แต่ เซียะ หมิง ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จาก The City University of New York คาดว่า บรรดาผู้สนับสนุนและจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนน่าจะเริ่มออกมาพูดจาภาษาเดียวกับปธน.สี เกี่ยวกับความสำเร็จด้านการลดภาวะยากจนกันมากขึ้น และอาจจะพยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนคำอ้างนี้เพิ่มเติมด้วย

ส่วน หวู เฉียง อดีตอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ซิงหัว (Tsinghua University) ในกรุงปักกิ่ง บอกกับผู้สื่อข่าว วีโอเอ ว่า คำประกาศชัยชนะของผู้นำจีนนั้น แสดงให้เห็นว่า ปธน.สี จิ้นผิง ไม่มีอะไรจะอ้างความสำเร็จตลอดช่วงระยะเวลา 8 ปีในตำแหน่งได้อีกแล้ว และการชูประเด็นการแก้ปัญหาความยากจนนั้น เป็นเพียงความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพในประเทศ ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้กำลังขยายวงกว้างมากขึ้น

หวู กล่าวปิดท้ายว่า ในระบบเศรษฐกิจการตลาดในปัจจุบันนี้ คนรวยและคนจนในจีนยิ่งอยู่คนละชั้นกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีช่องว่างที่กว้างอย่างไม่เคยมีมาก่อน และอันที่จริง ความพยายามแก้ปัญหาความยากจนของปธน.สี นั้น มีจุดประสงค์เพียงเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเมือง และข่าวประชาสัมพันธ์ที่ออกมานี้ เป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์คนอื่นๆ ดูว่า ตนสามารถแก้ปัญหาเร่งด่วนด้านความไม่มีเสถียรภาพได้ ด้วยการใช้ประเด็นแก้ไขภาวะยากจน เพื่อให้พรรคอยู่รอดต่อไปได้เท่านั้นเอง

XS
SM
MD
LG