ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ผอ.ซีดีซี ประจำไทย ชื่นชม สธ. ไทย “เอาอยู่” ภัยโควิด-19ระบาด 


A passenger has his temperature checked due to the coronavirus outbreak as he arrives at Phuket airport, Thailand March 9, 2020. REUTERS/Soe Zeya Tun - RC2JGF9N67ZG
A passenger has his temperature checked due to the coronavirus outbreak as he arrives at Phuket airport, Thailand March 9, 2020. REUTERS/Soe Zeya Tun - RC2JGF9N67ZG

แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณภายในประเทศไม่น้อยต่อการปฏิบัติงานในระดับนโยบาย รวมถึงการสื่อสารต่อชาวไทยของทางการไทยในการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ทางดร. จอห์น แมคอาร์เธอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือ CDC ประจำประเทศไทย กลับแสดงความชื่นชมต่อการรับมือของกระทรวงสาธารณสุขไทย (สธ.) ต่อภัยไวรัสระบาดว่า “มีประสิทธิภาพ”

ดร. แมคอาร์เธอร์ ได้ตอบข้อซักถามของทางวีโอเอไทยถึงความร่วมมือของ CDC ประจำประเทศไทยต่อทางการไทย โดยระบุว่า สธ. เริ่มมีการเฝ้าระวังติดตามข้อมูลตั้งแต่มีการระบาดของไวรัสที่อู่ฮั่น และตระหนักดีว่ากรุงเทพฯ เป็นจุดหมายการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวเมืองอู่ฮั่น มีการจัดการคัดกรองผู้โดยสารจากเมืองอู่ฮั่นที่สนามบิน และก็พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกประเทศจีนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม

ดร. แมคอาร์เธอร์ ยังชื่นชม สธ. ในการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินและการเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ก่อนที่จะมีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสวิด-19 ในไทย และหลังจากที่พบรูปแบบการระบาดของไวรัสแล้ว ทางการไทยก็ออกนโยบายเพิ่มระยะห่างทางสังคมด้วยการสั่งปิดร้านอาหาร บาร์ โรงเรียน ห้างสรรพสินค้า ห้ามให้มีการชุมนุมขนาดใหญ่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ดร. แมคอาร์เธอร์ยังชื่นชมแนวทางการประชาสัมพันธ์ด้านสาธารณสุขของ สธ. เช่น สโลแกน “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และแนวทางปฏิบัติเวลาไอหรือจาม

ดร. แมคอาร์เธอร์ กล่าวว่า ทาง CDC ได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการระบาดวิทยากับไทยมาโดยตลอด ทั้งสนับสนุนโครงการอบรมด้านระบาดวิทยาภาคสนามในไทยมาตั้งแต่ปี 2523 และร่วมมือกับ สธ. เพื่อยกระดับระบบห้องปฏิบัติการ เพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินทางด้านสาธารณสุขผ่านการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอพยพและการกักกันของ CDC ยังร่วมมือกับทางการไทยเพื่อพัฒนาจุดคัดกรองโรคตามสนามบิน ท่าเรือ และตามแนวชายแดนอีกด้วย

จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ของทางการไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 เมษายน ระบุว่า ไทยมียอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,643 คน ยอดผู้รักษาตัวหาย กลับบ้านได้ที่ 1,497 คน และยอดผู้เสียชีวิต 43 คน

ในขณะเดียวกัน ก็มีข้อถกเถียงถึงยอดรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละประเทศ ว่าจะสะท้อนถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสได้แม่นยำมากน้อยแค่ไหน ในเมื่อการตรวจหาเชื้อไวรัสของแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน

ซึ่งทาง ดร. บาร์บารา มาร์สตัน หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการโควิด-19สากลของ CDC ได้แสดงความเห็นในประเด็นนี้ว่า แต่ละประเทศมีวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสที่แตกต่างกัน และการตีความรายงานของยอดผู้ติดเชื้อนั้นจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงด้วยว่า มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อไปมากน้อยเพียงใด

ดร. มาร์สตัน อธิบายว่า หากประเทศไหนมีการตรวจหาเชื้อต่ำ การตรวจเชื้อส่วนใหญ่จะเน้นไปผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าประเทศนั้นจะมียอดผู้เสียชีวิตและยอดผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลสูง ในทางกลับกัน หากประเทศไหนสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสได้มากกว่า ก็อาจมียอดผู้เสียชีวิตที่ต่ำกว่า

โดย ดร. มาร์สตันหวังว่า เมื่อประเทศต่างๆ สามารถเพิ่มจำนวนประชาชนที่ได้รับการตรวจหาไวรัสได้มากขึ้น ก็อาจมีการค้นพบแนวทางการระบาดแบบไม่แสดงอาการ หรือการระบาดที่เป็นวงกว้างขึ้น ซึ่งก็อาจทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากไวรัสโดยรวมลดลงเช่นกัน

XS
SM
MD
LG