ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รายงานพิเศษ : เจาะปัญหาคนไทยติดค้างในสหรัฐฯ ท่ามกลางโควิด-19


Tourist line-up in a health control at the arrival section at Suvarnabhumi international airport in Bangkok, Thailand, Januaruy 19, 2020
Tourist line-up in a health control at the arrival section at Suvarnabhumi international airport in Bangkok, Thailand, Januaruy 19, 2020

“หนูไม่ได้กังวลเรื่องของค่าใช้จ่าย ไม่มีปัญหาในการถูกกักตัว แต่หนูกังวลว่าจะไม่ได้กลับไทยเพราะมีการเลื่อนปิดน่านฟ้าไทยไปเรื่อยๆ ถ้าประเทศเราไม่ดูแลเรา จะคาดหวังให้คนอื่นมาดูแลเราเหรอคะ” พรพิชชา ลมงาม นักเรียนโครงการแลกเปลี่ยนวัย 17 ปี กล่าวกับวีโอเอไทย

พรพิชชายังคงติดค้างอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ที่รัฐไอโอวา หลังจากต้องเลื่อนเที่ยวบินมาแล้วในวันที่ 4 เม.ย. และ 6 เม.ย. อันเป็นผลจากประกาศปิดน่านฟ้าไทยอย่างฉับพลันสองครั้งแรกของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และล่าสุดนี้ก็มีประกาศปิดน่านฟ้าฉบับที่สาม ขยายกำหนดจากเดิมวันที่ 18 เม.ย. ไปเป็นวันที่ 30 เม.ย.

นอกจากตั๋วเครื่องบินใหม่แล้ว พรพิชชายังต้องถือเอกสารอีกสองอย่างถึงจะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ เอกสารอย่างแรกคือ หนังสือรับรองกลับประเทศ ที่เธอเคยขอจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโกแล้ว และต้องขอใหม่อีกครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับเที่ยวบินใหม่ ซึ่งขณะนี้ก็ยังทำเรื่องขออีกรอบไม่ได้เนื่องจากระบบขอหนังสือรับรองออนไลน์ยังปิดอยู่เพื่อสนองต่อนโยบายปิดน่านฟ้าของทางการไทย

เอกสารอย่างที่สองคือ ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly certificate ซึ่งเธอขอมาแล้วสามครั้ง มีค่าใช้จ่ายครั้งละ 150 ดอลลาร์ เพราะ กพท. ขอความร่วมมือให้ผู้ที่เดินทางถือใบรับรองแพทย์ที่ออกภายใน 72 ชม. ก่อนเวลาเดินทาง และเธอก็คงต้องขอใบรับรองแพทย์นี้อีกครั้งก่อนเดินทางครั้งต่อไปด้วยเช่นกัน

การกำหนดให้คนไทยขอใบรับรองก่อนเข้าประเทศ = ละเมิดสิทธิคนไทยตามรัฐธรรมนูญหรือไม่?

มาตรการที่กำหนดให้คนไทยต้องมีใบรับรองต่างๆ เพื่อเข้าประเทศนี้ รศ. ดร. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า เป็นขั้นตอนที่สร้างภาระให้กับคนไทยในต่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะดำเนินการให้ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวก่อนการออกเดินทาง

“แม้มาตรการที่รัฐบาลและ กพท. กำหนดนั้นจะไม่ได้ห้ามคนไทยเดินทางกลับเข้าประเทศก็ตาม แต่ก็อาจมีผลในทางความเป็นจริงเป็นการจำกัดไม่ให้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยหรือมีผลเป็นการชะลอไม่คนไทยคนเดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยได้นั่นเอง" รศ. ดร. ต่อพงศ์ กล่าวทางโพสเฟสบุ๊ก

Torpong Kittiyanupong
Torpong Kittiyanupong

“ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า สิทธิในการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยนั้นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองโดยเด็ดขาด และไม่อาจถูกจำกัดลงได้โดยพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือมาตรการในทางบริหารอื่น ๆ ได้เลย ดังนั้นเมื่อผู้มีสัญชาติไทยแสดงความจำนงในการเดินทางกลับประเทศไทย ผู้นั้นย่อมมีสิทธิเดินทางเข้ามาได้ แต่รัฐอาจมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสในระหว่างการเดินทางที่เหมาะสมและจำเป็นได้” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ระบุ

เขายังอธิบายด้วยว่า สิทธิในการเดินทางเข้าประเทศของผู้มีสัญชาติไทยได้รับการรับรองเอาไว้ในบทบัญญัติมาตรา 39 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติว่า “การเนรเทศบุคคลสัญชาติไทยออกนอกราชอาณาจักร หรือการห้ามมิให้ผู้มีสัญชาติไทยเข้ามาในราชอาณาจักร จะกระทำมิได้”

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน น.พ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ยืนยันว่า ทางการไทยยินดีต้อนรับคนไทยทุกคนกลับประเทศ ไม่มีการสั่งห้ามเข้าประเทศแต่อย่างใด

“แต่ก่อนจะมา ระหว่างอยู่บนเครื่อง หลังลงจากเครื่อง ก็ช่วยดูกันก่อน และให้ทยอยๆ กันเข้ามา มาตรการต่างๆ ไม่ได้ขัดกับมาตรา[ในรัฐธรรมนูญ]ไหนเลย เพียงแต่จัดระเบียบเพื่อให้ดูแลพี่น้องประชาชนอีก 60 กว่าล้านคนได้ ไม่ให้เกิดการระบาด” น.พ.ทวีศิลป์ กล่าว


จะเลือกคนเข้าประเทศไทยวันละ 200 คนอย่างไร? : คำถามที่ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด

“เราจะรู้ได้อย่างไรคะว่าเราจะได้เป็นหนึ่งในสองร้อยคนที่ได้เข้าประเทศ” หม่อน (ขอสงวนชื่อจริง) นักเรียนไทยในรัฐเวอร์จิเนียวัย 32 ปี กล่าวกับทางวีโอเอไทย “ดิฉันอีเมลไปถามทางสถานทูตแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ”


หม่อนเลื่อนตั๋วเครื่องบินของเธอไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยเธอตั้งใจกลับเพียงวันเดียวก่อนที่ช่วงเวลาผ่อนผันในใบ I-20 ที่มาคู่กับวีซ่านักเรียน F1 ของเธอจะสิ้นสุดลง แต่เธอก็ยังไม่ทราบว่าทางการไทยมีหลักเกณฑ์ในการคัดกรองคนไทยเข้าประเทศวันละ 200 คนหลังจากไทยเปิดน่านฟ้าอย่างไร และเธอจะได้เป็น “หนึ่งในผู้ถูกเลือก” ได้อย่างไร

นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) อธิบายว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้มาจากทาง กต. แต่เป็นผลมาจากการหารือ “ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” เพื่อให้การบริหารจัดการการเข้าประเทศเป็นระบบและมีการเตรียมการที่เหมาะสม

Thaweesin Witsanuyothin
Thaweesin Witsanuyothin

ทางด้าน น.พ.ทวีศิลป์ ก็ตอบประเด็นดังกล่าวกับทางวีโอเอไทยว่า “ตัวเลข 200 คนนั้นมาจากความสามารถในการรองรับในการกักกันคนไทยที่ต้องการกลับจากต่างประเทศ ซึ่งมีราว 5,000 – 20,000 คน ซึ่งควรให้พวกเขาค่อยๆ ทยอยเข้ามาดีกว่าเข้ามาทีเดียว ถ้าให้เข้ามาทีเดียวมันอันตราย”

น.พ. ทวีศิลป์อธิบายว่า ทางการไทยก็พบความท้าทายในการเตรียมการกักกันผู้ที่มาจากต่างประเทศเช่นกัน “หลายโรงแรมที่เปิดรับให้มีผู้กักกันก็ถูกคนท้องถิ่นประท้วงจนทางโรงแรมต้านไม่ได้ นอกจากนี้เราต้องหาแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปดูแลด้วย”

[หลังไทยเปิดน่านฟ้า] เราจะดูตามสถานการณ์ ตามสถิติไป เราก็ต้องปรับตลอดตามรายงานแต่ละวันเหมือนกัน” น.พ. ทวีศิลป์ทิ้งท้าย

ทางวีโอเอไทยได้ทำการสอบถามประเด็นดังกล่าวไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ก็ได้รับคำแนะนำว่า ให้สอบถามประเด็นดังกล่าวกับทาง ศบค.

Fit to Fly certificate “มันไม่เมคเซนส์”

จากการพูดคุยของวีโอเอไทยกับคนไทยที่ติดค้างตามรัฐต่างๆ พบว่า ค่าใช้จ่ายในการออกใบรับรองแพทย์ที่เข้าลักษณะ Fit to Fly certificate มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 75-150 ดอลลาร์ ตามสถานที่ขอใบรับรอง

จักรี กั้วกำจัด พยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกอาวุโสประจำโรงพยาบาล South County รัฐโรดไอแลนด์ กล่าวว่า “ใบ Fit to Fly certificate มันไม่เมคเซนส์ มันไม่ได้รับรองว่าผู้ขอใบรับรองจะมีเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ เพราะไม่ได้ให้ผู้ขอใบทำการตรวจหาเชื้อ แค่เป็นการตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจว่าผู้ขอใบมีการติดต่อสัมผัสกับใครหรือไม่ แล้วก็มีการเซ็นรับรอง”

อีกประเด็นหนึ่งที่จักรีกังวลคือ คนไทยที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย และต้องการกลับไทยจะขอใบรับรองแพทย์ลักษณะนี้ได้ลำบาก

“ตอนนี้คลินิกท้องถิ่นปิดชั่วคราวหลายแห่งแล้ว ในเวลาปกติจะมีคลินิกการกุศลสำหรับคนไร้บ้าน ซึ่งผู้ที่ไม่มีเอกสารอยู่อย่างถูกต้อง ไม่มีชื่อในระบบ จะเข้าถึงการบริการสาธารณสุขในระบบตามโรงพยาบาลได้ลำบาก” จักรีกล่าว “หลายคนก็ไม่มีงานทำ แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนใช้”

หม่อนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ประสบปัญหาในการขอใบรับรองแพทย์ Fit to Fly certificate เช่นกัน เธอเตรียมนัดแพทย์ชาวไทยเพื่อออกใบรับรองดังกล่าวในราคา 125 ดอลลาร์ เพราะ “แพทย์อเมริกันไม่เข้าใจว่าใบรับรองแพทย์ลักษณะนี้คืออะไร เขาไม่เขียนให้ เคยไปลองขอที่คลินิกแถวบ้าน เขาไม่ตีความให้ด้วยซ้ำว่าอุณหภูมิร่างกายของเราถือว่าเหมาะสมต่อการเดินทางหรือไม่”

จะแก้ปัญหาอยู่เกินวีซ่าเพราะไทยปิดน่านฟ้าได้อย่างไร?

จิ๋ง โปรดปราน เอี่ยวพานทอง ทนายความด้านกฎหมายคนเข้าเมือง รัฐเวอร์จิเนีย ให้คำแนะนำว่า สำหรับคนไทยที่เข้ามาด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ให้ขอยื่นต่อวีซ่าออกไป แม้ปกติจะขอยื่นต่อเกิน 1 ปี ไม่ได้ แต่ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสเช่นนี้ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ และสำหรับผู้ที่ถือวีซ่านักเรียน จิ๋งแนะนำว่า ให้คุยกับทางโรงเรียนเพื่อต่อใบ I-20 เพื่อรักษาสถานการณ์อยู่ในสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายไปก่อน

A Thai-American Immigration attorney, Jing Prodpran Yeophantong talks with VOA Thai in Arlington,VA. Oct, 2018.
A Thai-American Immigration attorney, Jing Prodpran Yeophantong talks with VOA Thai in Arlington,VA. Oct, 2018.

เธอยังแนะนำด้วยว่า การยื่นขอต่อวีซ่าทางฟอร์ม I-539 นั้น ผู้ยื่นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตั้งใจจะกลับไทยในที่สุด มีการใช้ชีวิตในสหรัฐฯ สอดคล้องกับชนิดของวีซ่า และมีเงินมากพอที่จะอยู่ต่อได้โดยไม่ต้องไปทำงานที่ไม่ได้รับอนุญาต

ซึ่งการยื่นขอต่อวีซ่าเพื่อรักษาสถานะนั้น หากทางการไทยเปิดน่านฟ้า สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ผู้ยื่นเรื่องก็สามารถเดินทางกลับไทยได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผลการยื่นคำร้องได้รับบการอนุมัติก่อน

“ที่สำคัญคือ คุณต้องยื่นขอต่อวีซ่าก่อนที่วีซ่าของคุณจะหมด เมื่อคุณกลับมา [ที่สหรัฐฯ]อีกครั้ง ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐฯ จะเห็นสถานะว่าคุณมีคำยื่นขอต่อวีซ่าที่ค้างไว้ คุณก็ต้องแสดงเอกสารที่คุณเคยยื่นขอคำร้องต่อวีซ่า และอธิบายสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่ฟัง” จิ๋งอธิบาย “แล้วเขาจะปฏิเสธคำขอของคุณ ซึ่งเป็นการปฏิเสธแบบเทคนิค ไม่มีผลกระทบในแง่ลบ วีซ่าจะไม่ถูกเพิกถอน”

เสียงสะท้อนอื่นๆ จากคนไทยที่ติดอยู่ที่สหรัฐฯ

หยกมณี ตัน และทรายดาว อุราฤทธิ์ ตั้งใจมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในสหรัฐฯ จากโครงการเวิร์คแอนด์ทราเวลในรัฐยูทาห์ แต่นอกจากงานที่ตั้งใจทำจะได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสจนทำให้ทั้งคู่ต้องกลับไทยแล้ว พอจะเดินทางกลับไทยก็ยังกลับไม่ได้จากการที่ไทยปิดน่านฟ้าอีก

ในขณะที่หยกมณีได้พักกับคนไทยที่เห็นข้อความขอความช่วยเหลือของเธอในสื่อสังคมออนไลน์ และมารับเธอไปพักที่บ้านด้วยกัน ทรายดาวต้องอาศัยที่โรงแรมในเมืองซีแอทเทิลมาตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.

“ค่าใช้จ่ายตอนนี้สูงมาก คือตอนนี้ยังเช่าโรงแรม หารกันอยู่กับพี่คนไทยที่ติดอยู่เหมือนกันประมาณ 9 คน ตอนนี้ก็ตัดสินใจว่าจะไปอยู่วัดของวอชิงตัน” ทรายดาวกล่าว

พลอย (ขอสงวนชื่อจริง) ซึ่งติดอยู่ที่โรงแรมเดียวกับทรายดาว กล่าวเสริมว่า เหตุการณ์ทั้งหมดไม่เป็นไปตามแผนเพราะนโยบายที่เปลี่ยนไปตลอดของรัฐบาลทำให้เราเข้าประเทศไม่ได้ ทุกคนไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องตกใจไปอีกนานแค่ไหนและไม่มีใครจะวางแผนอะไรได้เลย ทุกคนก็เลยเหมือนผวาไม่จบ ทุกคนอยู่ในจุดที่เตรียมอะไรไม่ได้เลย”

นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนแลกเปลี่ยนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางออกจากสหรัฐฯ แต่ติดอยู่ที่สนามบินฮาเนดะที่ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เนื่องจากออกนอกสนามบินไม่ได้เพราะญี่ปุ่นยกเลิกการยกเว้นวีซ่าแก่คนไทยชั่วคราว ซึ่งทาง กต. ได้จัดเที่ยวบินพิเศษเพื่อรับนักเรียนกลุ่มนี้พร้อมคนไทยที่ตกค้างที่สนามบินดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา และทาง กต. ก็ได้ช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างตามสนามบินในประเทศต่างๆ อันเป็นผลจากคำสั่งปิดน่านฟ้าไทยของทาง กพท. ด้วยเช่นกัน

ทางวีโอเอไทยได้ทำการติดต่อหนึ่งในนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ติดค้างที่สนามบินฮาเนดะ แต่นักเรียนคนดังกล่าวไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้เพราะ “เจ้าหน้าที่ขอไว้ว่าไม่อยากให้ออกสื่อ”

สถานทูตไทยในสหรัฐฯ ช่วยเหลือคนไทยอย่างไรบ้าง?

ทางสถานทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ได้เผยแพร่ข้อมูลในการขอขยายเวลาวีซ่าประเภทต่างๆ สำหรับคนไทยที่ยังติดค้างในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ทางสถานทูตไม่ได้กล่าวถึงการสนับสนุนในด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว เช่น ค่ายื่นแบบฟอร์มคำร้องขอต่อวีซ่าที่ตกอยู่ที่ 370 ดอลลาร์

ทางสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก นครนิวยอร์ก และนครลอสแอนเจลิส ยังมีบริการให้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางเว็บไซต์ เฟซบุก อีเมล์ และหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินตลอด 24 ชม. และยังเปิดช่องทางพิเศษเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเร่งด่วนในกรณีฉุกเฉินแก่คนไทยในสหรัฐฯ รวมถึงเรื่องการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 กรอกข้อมูลเพื่อรับอีเมล์และลงทะเบียนสำหรับผู้ที่ต้องการกลับประเทศไทยได้ที่ www.thaiembdc.org/emergencyreg

จากข้อมูล ณ วันที่ 10 เม.ย. 2563 มีผู้ลงทะเบียนรับข้อมูลข่าวสารในช่วงภาวะฉุกเฉินทั้งหมดกว่า 2,800 คน โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ที่แจ้งว่ามีแผนการเดินทางกลับไทยกว่า 1,400 คน

รายงานโดย วรรษมน อุจจรินทร์ และ คมสัน ศรีธนวิบุญชัย VOA Thai

XS
SM
MD
LG