ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ห้องทดลองในอังกฤษพัฒนาวิธีทดลองยาชนิดใหม่กับหัวใจที่เต้นเหมือนจริง


ห้องทดลองในอังกฤษพัฒนาวิธีทดลองยาชนิดใหม่กับหัวใจที่เต้นเหมือนจริง

please wait

No media source currently available

0:00 0:02:47 0:00

บริษัทเทคโนโลยีอังกฤษใช้เนื้อเยื่อหัวใจของมนุษย์ที่ได้รับบริจาคมา ในการศึกษาวิจัยเรื่องจังหวะการเต้นของกล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อช่วยในการทดสอบยาชนิดใหม่

ห้องทดลอง InoCardia ในเมืองโคเวนทรี ประเทศอังกฤษ กำลังศึกษาจังหวะการเต้นของหัวใจของมนุษย์ โดยใช้เนื้อเยื่อจากหัวใจที่ได้รับบริจาคมา แล้วกระตุ้นด้วยอุปกรณ์กำเนิดไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อจำลองจังหวะการเต้นและการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในขณะที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์จริงๆ

คุณเฮเลน แมดด็อค (Helen Maddock) ผู้ก่อตั้งห้องทดลอง InoCardia กล่าวว่า การทดลองลักษณะนี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษาถึงจังหวะการเต้น ความถี่ และการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อหัวใจที่กำลังทำงาน ได้อย่างละเอียด

เธอกล่าวว่า เมื่อทดลองด้วยการใส่ตัวยาชนิดใดชนิดหนึ่งลงไปในกล้ามเนื้อนั้น นักวิจัยก็จะสามารถคาดทำนายถึงผลที่จะเกิดขึ้นในการทดลองได้อย่างแม่นยำ เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาในขั้นต่อไป ซึ่งอาจเป็นการทดลองกับมนุษย์จริงๆ

ปัจจุบัน วิธีการทดลองผลของยาชนิดใดชนิดหนึ่ง ยังใช้กล้ามเนื้อหัวใจแบบอยู่นิ่งๆ กับที่ ซึ่งคุณแมดด็อคบอกว่าไม่สามารถให้ข้อมูลที่แม่นยำเท่ากับการใช้กล้ามเนื้อที่จำลองการเต้นของหัวใจมนุษย์

คุณเฮเลน แมดด็อค ยังบอกด้วยว่า เทคโนโลยีที่ห้องทดลอง InoCardia ยังสามารถช่วยให้นักวิจัยระบุถึงสารพิษหรือสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในตัวยาที่ทำการทดสอบ ก่อนที่จะมีการลงทุนมหาศาลเพื่อผลิตยาชนิดนั้นออกมา

ผู้ก่อตั้งห้องทดลอง InoCardia ผู้นี้บอกว่า แนวคิดสำคัญของการทดลองที่ว่านี้ คือการพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลว และเพิ่มศักยภาพในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจโดยไม่มีผลข้างเคียงมากเกินไป

ห้องทดลอง InoCardia ระบุว่า วิธีนี้ยังช่วยลดการใช้สัตว์ในการทดลองซึ่งอาจทำให้ผลการทดลองคลาดเคลื่อนได้ โยขณะนี้ได้มีความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตยาต่างๆ หลายแห่ง เพื่อนำเทคโนโลยีจำลองจังหวะการเต้นของหัวใจนี้ไปใช้มากขึ้นแล้ว

(ผู้สื่อข่าว Faith Lapidus รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

XS
SM
MD
LG