ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิจัยพบ 'เชื้อเเบคทีเรียสังเคราะห์เเสง' เพิ่มความหวังบำบัดโรคหัวใจ


Photosynthetic cyanobacteria could help patients suffering from heart disease, according to a new study.
Photosynthetic cyanobacteria could help patients suffering from heart disease, according to a new study.

ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเปิดเผยว่า หลังจากทดลองฉีดเเบคทีเรียที่สังเคราะห์เเสงได้เข้าไปในหัวใจของหนูทดลองที่เป็นโรคหัวใจ และใช้เเสงส่องเข้าไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการสังเคราะห์เเสง ทีมงานสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนขึ้นในกระเเสเลือดที่นำไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจและส่งเสริมการทำงานของหัวใจ

โจเซฟ วู ผู้ร่างรายงานผลการวิจัยอาวุโส กล่าวว่า การบำบัดด้วยเเบคทีเรียสังเคราะห์เเสง เป็นระบบการนำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หมุนเวียนไปใช้ใหม่

ทีมงานวิจัยฉีดเชื้อเเบคทีเรียพิเศษเข้าไปในหัวใจหนูทดลอง เชื้อเเบคทีเรียใช้พลังงานที่ได้จากเเสงในกระบวนการเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ในหัวใจให้กลายเป็นออกซิเจนผลการศึกษานี้อาจจะช่วยบำบัดผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอเเละกล้ามเนื้อหัวใจขาดออกซิเจน

โจเซฟ วู ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยสเเตนฟอร์ด กล่าวว่า ตามธรรมชาติ มนุษย์หายใจออกเป็นเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ พืชและต้นไม้นำแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้เเละผลิตแก๊สออกซิเจนออกมา เมื่อเกิดภาวะหัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจยังปั้มเลือดอยู่ แต่ในกระเเสเลือดของผู้ป่วยจะมีเเต่เเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่มีเเก๊สออกซิเจน

ทีมนักวิจัยของเขาจึงเกิดความสงสัยว่า น่าจะมีหนทางนำเซลล์พืชมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดอาการหัวใจวาย ด้วยการนำเซลล์พืชไปไว้ติดกับเซลล์ของหัวใจเพื่อทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนจากเเก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในกระเเสเลือดของผู้ป่วย

ในตอนเเรก ทีมนักวิจัยได้พยายามใช้เซลล์ผักโขมและผักเคล แต่โครงสร้างคลอโรพลาสต์ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดของกระบวนการสังเคราะห์เเสง ยังขาดความความเสถียร ทำให้เซลล์ของผักทั้งสองชนิดดังกล่าวไม่สามารถอยู่รอดได้หากนำออกมาจากพืช

โจเซฟ วู กล่าวว่า ทีมงานยังไม่ล้มเลิกความพยายามและได้หันไปทดลองใช้เชื้อเเบคทีเรียที่สังเคราะห์เเสงได้ที่ชื่อว่า cyanobacteria เนื่องจากเชื้อเเบคทีเรียชนิดนี้มีความทนทานมากกว่าเซลล์พืช และสามารถอยู่รอดได้เมื่อนำไปใส่ไว้กับเซลล์หัวใจในจานทดลอง

หลังจากนั้น โจเซฟ วู และทีมนักวิจัย ได้ทดลองฉีดเชื้อเเบคทีเรียสังเคราะห์เเสงชนิดนี้เข้าไปในหัวใจที่กำลังเต้นอยู่ของหนูทดลองที่ถูกวางยาสลบ เเละทำการเปรียบเทียบปริมาณแก๊สออกซิเจนในหัวใจของหนูทดลองกลุ่มที่ได้รับเเสงส่องไปที่หัวใจหลังจากได้รับการฉีดเชื้อเเบคทีเรียสังเคราะห์แสง กับหนูอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับเชื้อเเบคทีเรียแต่ไม่ได้รับเเสงส่องไปที่หัวใจ

ทีมนักวิจัยพบว่า หนูทดลองกลุ่มที่ได้รับแสงส่องไปที่หัวใจหลังจากได้รับการฉีดเชื้อเเบคทีเรียสังเคราะห์เเสง ได้มีระดับเเก๊สออกซิเจนมากกว่าและหัวใจทำงานได้ดีกว่า

หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าวเสริมด้วยว่า เชื้อเเบคทีเรียจะหายไปภายในเวลา 24 ชั่วโมงและหัวใจจะทำงานได้ดีขึ้นนานอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เเต่เขากล่าวว่ายังถือว่าเป็นผลการทดลองขั้นต้นเท่านั้น

(รายงานโดย VOA News / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)

XS
SM
MD
LG