ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์ชี้ ความสัมพันธ์ทางทหารรัสเซีย-โสมแดง คือ สภาวะลำบากสำหรับจีน


แฟ้มภาพ - ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน (ขวา) และ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ จับมือกันระหว่างร่วมการประชุมที่นอกเมืองซอลคอฟสกี รัสเซีย เมื่อ 13 ก.ย. 2566
แฟ้มภาพ - ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน (ขวา) และ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ จับมือกันระหว่างร่วมการประชุมที่นอกเมืองซอลคอฟสกี รัสเซีย เมื่อ 13 ก.ย. 2566

การเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือในช่วงที่ผ่านมา กลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้จีนอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้า-คายไม่ออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะแม้ประเด็นนี้จะทำให้กรุงปักกิ่งเครียดไม่น้อย จีนก็คงจะยอมพยายามทำบางอย่างเพื่อรักษาสมดุลในด้านความสัมพันธ์กับสองเพื่อนสนิทใหม่นี้ไว้ให้ได้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ตามความเห็นของนักวิเคราะห์

ในขณะที่ นักวิเคราะห์กังวลว่า กรุงเปียงยางอาจพยายามจัดหาเทคโนโลยีอาวุธใหม่ ๆ จากมอสโกเพื่อยกระดับความสามารถการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของตน ซึ่งหมายถึงภัยคุกคามครั้งใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย คำประกาศความพร้อมจะทำสงครามของ คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ ยิ่งทำให้ความกังวลที่ว่าเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อ คิม มีคำสั่งให้กองทัพเกาหลีเหนือเตรียมเข้ายึดเกาหลีใต้หากเกิดสงครามขึ้นมาและออกคำสั่งยกเลิกนโยบายรวมชาติด้วย

เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งของทำเนียบขาว บอกกับผู้สื่อข่าวหลังการหารือระหว่าง เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ และ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ 27 มกราคม ว่า สหรัฐฯ นั้นรู้สึกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นขึ้นระหว่างรัสเซียและเกาหลีเหนือ และเกี่ยวกับสิ่งที่ คิม จอง อึน พยายามสื่อออกมา

เจ้าหน้าที่รายนี้เปิดเผยด้วยว่า สหรัฐฯ ได้หยิบยกประเด็นความกังวลนี้ขึ้นมาพูดคุยกับฝ่ายจีนด้วย เพราะว่า กรุงปักกิ่งถือเป็นฝ่ายที่มีอิทธิพลต่อกรุงเปียงยางไม่น้อย

เมื่อเดือนกันยายนของปีที่แล้ว คิม จอง อึน ได้พบกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ที่รัสเซีย โดยเชื่อกันว่า ทั้งสองได้หารือประเด็นอาวุธยุทธภัณฑ์ที่เกาหลีเหนือสามารถจัดหาให้เพื่อสนับสนุนการทำสงครามของรัสเซียในยูเครน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากรัสเซียให้เกาหลีเหนือนำไปใช้พัฒนาอาวุธของตน

หลิว เพิ่งหยู โฆษกของสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน บอกกับ วีโอเอ ว่า ตนเอง “ไม่ได้รับทราบเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีและรัสเซีย” และว่า ตน “ไม่มีอะไรจะพูดถึง” เกี่ยวกับประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า จีนน่าจะกังวลอยู่ว่า ธุรกรรมใด ๆ เกี่ยวกับอาวุธระหว่างปูตินและคิมอาจทำให้ภูมิภาคเอเชียยิ่งขาดเสถียรภาพยิ่งขึ้น

โรเบิร์ต แมนนิง นักวิชาการอาวุโสจากโครงการ Reimagining U.S. Grand Strategy ของ Stimson Center กล่าวว่า ตนเองสงสัยอยูว่า จีนน่าจะกังวลว่า ปธน.ปูติน คือ ผู้ที่จะมาสร้างความปั่นป่วนแตกแยกที่ไม่สนใจเรื่องเสถียรภาพสักเท่าใด ทั้งยังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้สนับสนุนโครงการขีปนาวุธและนิวเคลียร์ของ คิม จอง อึน ที่ไม่ค่อยสะทกสะท้านเกี่ยวกับพฤติกรรมยั่วยุต่าง ๆ ของกรุงเปียงยางสักเท่าใดด้วย

ภาพที่สื่อ KCNA ของเกาหลีเหนือระบุว่า ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 แสดงให้เห็นภาพการยิงทดสอบขีปนาวุธร่อนเชิงยุทธวิธี "ฮวาซอล-2" ไปยังทะเลตะวันตกของเกาหลี
ภาพที่สื่อ KCNA ของเกาหลีเหนือระบุว่า ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2567 แสดงให้เห็นภาพการยิงทดสอบขีปนาวุธร่อนเชิงยุทธวิธี "ฮวาซอล-2" ไปยังทะเลตะวันตกของเกาหลี

แมนนิง ยังบอกกับ วีโอเอ ด้วยว่า “การผสมผสานของความเป็นปรปักษ์ก้าวร้าวต่อสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ของผู้นำเปียงยาง และแรงต่อรองที่ลดลงทำให้ [ฝ่ายจีน] ยิ่งกังวลหนักขึ้นเกี่ยวกับเสถียรภาพ และเราอาจเห็นการสร้างความร่วมมือแบบพอประมาณกับสหรัฐฯ เกิดขึ้นก็เป็นได้”

ทั้งนี้ จีนมองเกาหลีเหนือว่าเป็นเหมือนรัฐกันชนกับกองกำลังสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ที่เกาหลีใต้ ขณะที่ ตนเองพยายามที่จะรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ (status quo) ของตนเองในภูมิภาคไว้ให้ได้

เคน โกส ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจาก Center for Naval Analyses ให้ความเห็นว่า กรุงปักกิ่งนั้นมีความกังวลว่า กรุงเปียงยางจะยิ่งทำพฤติกรรมยั่วยุหนักขึ้นด้วยการพัฒนาอาวุธล้ำสมัยที่พึ่งเทคโนโลยีของรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้เกิดการโต้ตอบที่รุนแรงขึ้นจากฝ่ายสหรัฐฯ ได้

โกส กล่าวว่า “ถ้าฝ่ายรัสเซียสามารถเร่งทำการต่าง ๆ” ให้กับเกาหลีเหนือได้จริง เพื่อให้สามารถพัฒนาความสามารถด้านขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่พุ่งเป้ามายังสหรัฐฯ ได้ และ “เพื่อให้ใช้อาวุธของตนจับเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ เป็นตัวประกันได้” สหรัฐ ก็คงรู้สึกถึงความจำเป็นที่ “จะต้องจัดการกับสถานการณ์” และว่า จีนเองก็คงไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือดึงสหรัฐฯ ให้เข้ามาในภูมิภาคเอเชียมากกว่าที่เป็นอยู่ด้วย

ในเวลานี้ จีนเองก็รับรู้ถึงภัยคุกคามจากบรรดามาตรการป้องปรามนิวเคลียร์ที่กรุงวอชิงตันและกรุงโซลตกลงที่จะดำเนินการในภูมิภาค ตั้งแต่เมื่อจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสองพันธมิตรเมื่อเดือนเมษายนของปีที่แล้ว

แต่ จอห์น อีราธ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านนโยบายจาก Center for Arms Control and Non-proliferation เชื่อว่า จีนจะทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองที่ได้จากเกาหลีเหนือ ไม่ว่ามอสโกและเปียงยางจะทำข้อตกลงอะไรกันไว้ก็ตาม โดยเขาบอกกับ วีโอเอ ว่า หนึ่งในผลประโยชน์ที่ว่า ก็คือ “การทำให้สหรัฐฯ ยุ่งวุ่นวายและไม่น่าจะมีเวลามาแทรกแซงกรณีวิกฤตไต้หวัน” นั่นเอง

ส่วน เดนนิส วิลเดอร์ นักวิชาการอาวุโสจากโครงการ Initiative for U.S.-China Dialogue on Global Issues แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวว่า “ถ้าหากจีนใช้แรงต่อรองของตนกับเกาหลีเหนือ มันก็เป็นเพื่อสนองเป้าหมายของตนเอง ไม่ใช่เพื่อช่วยสหรัฐฯ”

วิลเดอร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการด้านจีนของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ระหว่างปี 2004-2005 กล่าวเสริมด้วยว่า สิ่งที่กรุงปักกิ่งต้องการ “คือการหลีกเลี่ยงการก่อกำเนิดอำนาจใหม่ที่จะมางัดกับเกาหลีเหนือและการสร้างปัญหาใหม่ให้กับจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ [และ]ฝ่ายจีนเองก็ต้องการคงสถานภาพที่เป็นอยู่ของตนเพื่อดำเนินงานเรื่องอื่น ๆ ต่อไป”

อดีตผอ.สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ผู้นี้กล่าวว่า สิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการจากจีนในเวลานี้ “น่าจะเป็นเรื่องของข้อมูล” เพราะสหรัฐฯ กำลังพยายามที่จะประเมินว่า “เกิดอะไรขึ้นอยู่ระหว่างเกาหลีเหนือกับปูติน”

เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ซุน เหว่ยตง รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน เพิ่งร่วมประชุมกับ เช ซอน ฮุย รัฐมนตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ที่กรุงเปียงยาง โดยทั้งสองตกลงกัน “ที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือเชิงยุทธวิธีและเดินหน้าไปพร้อม ๆ กันในการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน” ตามรายงานของสำนักข่าว KCNA ของรัฐบาลกรุงเปียงยาง

และเมื่อวันที่ 30 มกราคม เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียและ หม่า จ้าวซู่ รองรัฐมนตรีต่างประเทศจีน พบกันที่กรุงมอสโกและหารือประเด็น “การแก้ปัญหาด้านการทูตและการเมือง” เพื่อ “ผ่อนคลายความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี” รวมทั้งประเด็นอื่น ๆ ด้วย ตามการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG