ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ชาวอเมริกันรำลึก 'วันมาร์ตินลูเธอร์คิง' ท่ามกลางโรคระบาดและความขัดแย้งทางการเมือง


USA-MLK/MEMORIAL
USA-MLK/MEMORIAL

ชาวอเมริกันทั่วประเทศร่วมเฉลิมฉลองวันรำลึกถึงสาธุคุณมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม ก่อนที่จะมีพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของนายโจ ไบเดน ในอีกสองวันข้างหน้า ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไปจัดแบบออนไลน์

ทุกปีในวันจันทร์ที่สามของเดือนมกราคม ชาวอเมริกันจะรำลึกถึงสาธุคุณ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองผู้เรียกร้องความเท่าเทียมของคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในสหรัฐฯ ผ่านการประท้วงอย่างสงบและสันติ

ปกติแล้ว ประชาชนจะพากันไปบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสาธารณะในวันนี้เพื่อรำลึกถึงแนวทางการทำงานของ ดร.คิง แต่การระบาดของโควิด-19 ในปีนี้ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ต้องถูกระงับไปจำนวนมาก บางกิจกรรมที่ยังมีอยู่ก็ต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด

นอกจากนั้น สัญญาณของความขัดแย้งอย่างรุนแรงทางการเมืองในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ทำให้กรุงวอชิงตันได้เรียกกองกำลังสำรองแห่งชาติจำนวน 25,000 คน เข้าประจำการในกรุงวอชิงตันเพื่อควบคุมสถานการณ์ก่อนที่จะมีพิธีปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ในวันที่ 20 มกราคมนี้ ภายหลังจากเกิดเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

บริเวณสนามหญ้าและอาคารหน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ ด้านหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ ต่างถูกปิดล้อมด้วยรั้วเหล็กสูง ระบบขนส่งมวลชนถูกจำกัด ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางสหรัฐฯ เตือนว่าอาจเกิดความรุนแรงทางการเมืองในกรุงวอชิงตันและรัฐอื่น ๆ ทั่วประเทศ ในช่วงก่อนและหลังพิธีสำคัญดังกล่าว

ที่นครแอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย มีการจัดงานเฉลิมฉลองวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ แบบออนไลน์ แทนการทำพิธีที่สวนประวัติศาสตร์แห่งชาติ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เหมือนทุกปี

ประวัติ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

"ข้าพเจ้ามีความฝันว่า วันหนึ่งประเทศนี้จะลุกขึ้นยืนหยัดและจรรโลงความหมายที่แท้จริงของบทบัญญัติแห่งความเท่าเทียมกันของมนุษย์"

คือคำกล่าวของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ขึ้นต้นด้วยประโยคว่า “I Have a Dream” หรือ “ข้าพเจ้ามีความฝัน” ในสุนทรพจน์ที่กล่าวไว้ระหว่างการเดินขบวนครั้งใหญ่ในกรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พุทธศักราช 2506 หรือ ค.ศ 1963 กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้คนหลายล้านคน และยกระดับสังคมอเมริกันในด้านสิทธิพลเมืองมายาวนาน

ก่อนหน้านี้ สาธุคุณ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) เริ่มเป็นที่รู้จักในปี ค.ศ 1955 เมื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำการคว่ำบาตรรถโดยสารประจำทางในเมืองมอนท์โกเมอรี (Montgomery) รัฐอะลาบามา (Alabama) เพื่อกดดันให้ยุติการแบ่งแยกที่นั่งตามสีผิวของผู้โดยสาร

จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมืองในอเมริกา ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 – 1960​

วิถีชีวิต การทำงาน และสุนทรพจน์หลายครั้งของ ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ กลายเป็นแบบอย่างและทรงพลังมาตลอด โดยเฉพาะการเดินขบวนเมื่อปี พ.ศ. 2506 ที่ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอเมริกา ที่ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เป็นผู้นำการเรียกร้องสิทธิความเป็นพลเมือง เรียกร้องโอกาสและความเท่าเทียม โดยไม่แบ่งแยกหรือกีดกันสีผิว

FILE - In this Aug. 28, 1963 file photo, the Rev. Dr. Martin Luther King Jr., head of the Southern Christian Leadership Conference, speaks to thousands during his "I Have a Dream" speech in front of the Lincoln Memorial
FILE - In this Aug. 28, 1963 file photo, the Rev. Dr. Martin Luther King Jr., head of the Southern Christian Leadership Conference, speaks to thousands during his "I Have a Dream" speech in front of the Lincoln Memorial

ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี ค.ศ 1964 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ อดีตปธน. ลินดอน จอห์นสัน (Lyndon Johnson) ลงนามในร่างกฏหมายสิทธิพลเมือง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในหมู่พลเมืองอเมริกัน

ดร. มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2511 หรือ ค.ศ 1968 ที่เมืองเมมฟิส (Memphis) รัฐเทนเนสซี (Tennessee) ขณะกำลังเดินทางไปช่วยพนักงานเก็บขยะ ประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เท่าเทียม

แม้ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหาร ในเวลาเพียง 5 ปีหลังจากการชุมนุมและการกล่าววลีอมตะ 'ข้าพเจ้ามีความฝัน' เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2506 แต่ไม่มีใครจะสามารถทำลายความฝันที่เขาได้กล่าวในวันนั้นลงได้ และจะยังคงได้รับการสานต่อ เป็นแรงบันดาลใจและเป็นพลังสำคัญของการขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในด้านสิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมและเสมอภาคกันมากขึ้น ด้วยความเชื่อว่าอุดมคติที่วาดหวังไว้จะสามารถเป็นจริงได้ในสักวัน

ในปี พ.ศ.2526 หรือ ค.ศ.1983 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ วัน Martin Luther King Jr. เป็นวันหยุดประจำปี โดยนับเอาวันจันทร์ที่สามของเดือน ม.ค ของทุกปี เพื่อให้ประชาชนอเมริกันได้ร่วมรำลึกถึง ดร. คิง

และต่อมาในปี พ.ศ. 2537 หรือ ค.ศ 1994 รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันบำเพ็ญประโยชน์แห่งชาติด้วย

XS
SM
MD
LG