ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์สัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ: ยังมองหน้ากันติดหรือไม่หลังเหตุบอลลูนสอดแนม?


นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า เหตุการณ์ที่สหรัฐฯ ยิงบอลลูนสอดแนมของจีนตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อาจส่งผลกระทบไม่น้อยต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศต่อจากนี้ แต่ในที่สุดแล้วทั้งสองประเทศต่างมีความจำเป็นที่ต้องจัดการความไม่ลงรอยนี้ให้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วแค่ไหน

หลังจากมีรายงานการพบบอลลูนสอดแนมของจีนเมื่อต้นเดือนนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ได้ตัดสินใจเลื่อนการเดินทางเยือนออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่ยังมิได้ประกาศยกเลิก และยังได้ใช้คำพูดอย่างระมัดระวังในการวิจารณ์จีน โดยระบุว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้และไร้ความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม การยิงบอลลูนดังกล่าวตกนอกชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ รวมทั้งการยิงอากาศยานไม่ระบุประเภทอีกสองครั้งเมื่อวันศุกร์และเสาร์ที่ผ่านมาเหนือท้องฟ้ารัฐอลาสกาและแคนาดา ยิ่งก่อให้เกิดความซับซ้อนต่อเรื่องนี้ และเกิดคำถามว่า มีอากาศยานสอดแนมจากประเทศอื่นรุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าอเมริกาเหนือมากน้อยแค่ไหน

และสหรัฐฯ กับจีนจะสมานรอยร้าวที่เกิดจากบอลลูนสอดแนมได้หรือไม่ อย่างไร และเร็วแค่ไหน?

FBI agents process the remains of a balloon shot down by U.S. military off South Carolina
FBI agents process the remains of a balloon shot down by U.S. military off South Carolina

ความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยรอยร้าว

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ลดลงอยู่ในระดับต่ำจนน่าเป็นห่วงตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคม เมื่อ ส.ส.แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในขณะนั้น เดินทางเยือนไต้หวันท่ามกลางเสียงทัดทานของจีน

นักการทูตบางคนเชื่อว่า การที่รัฐมนตรีบลิงเคนเดินทางเยือนจีนถือเป็นก้าวสำคัญในการ "วางรากฐาน" ความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศอีกครั้ง แม้จะยังไม่เชื่อว่าทั้งสองประเทศจะยอมหวนคืนสู่โต๊ะเจรจาในเร็ววันนี้ก็ตาม

แต่เหตุการณ์บอลลูนสอดแนมของจีนได้ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างยิ่งในกรุงวอชิงตัน บรรดานักการเมืองพรรครีพับลิกันต่างออกมาตำหนิกองทัพสหรัฐฯ และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ปล่อยให้บอลลูนจีนลอยผ่านน่านฟ้าตั้งแต่ภาคตะวันตกไปถึงฝั่งตะวันออกของประเทศโดยไม่ทำอะไร

ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศจีนแสดงท่าทีโกรธเกรี้ยวต่อข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ระบุว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของจีน โดยจีนยืนยันว่าเป็นบอลลูนเพื่อการวิจัยด้านสภาพอากาศของพลเรือนที่พลัดหลงเข้าไปในน่านฟ้าสหรัฐฯ

จอห์น เคอร์บี ผู้ประสานงานด้านการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ของสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวกับวีโอเอว่า ตนไม่แปลกใจที่จีนปฏิเสธเรื่องนี้ แต่จากการตรวจสอบอย่างละเอียดสามารถยืนยันได้ว่าเป็นบอลลูนสอดแนมจริง ๆ

เคอร์บี กล่าวว่า เราทราบว่าจีนส่งบอลลูนลักษณะนี้ลอยเหนือ 40-50 ประเทศ ซึ่งทางสหรัฐฯ ได้เตือนไปถึงประเทศเหล่านั้นแล้ว

US Chinese Balloon South Carolina
US Chinese Balloon South Carolina

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนปฏิเสธคำขอของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีการเจรจาทางโทรศัพท์ระหว่างรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐฯ และจีน

อย่างไรก็ตาม แดเนียล รัสเซลล์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ด้านกิจการเอเชียตะวันออก ชี้ว่า "เป็นเรื่องปกติที่จีนจะปฏิเสธช่องทางการสื่อสารทางทหารกับสหรัฐฯ ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน เช่น เมื่อเกิดวิกฤติ แต่นั่นมิได้หมายความว่าจีนล้มเลิกความพยายามซื้อเวลาด้วยการทำให้ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกสงบลง"

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้สั่งให้ยิงบอลลูนตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้พยายามบรรเทาความกังวลเรื่องความมั่นคงจากบอลลูนดังกล่าวและผลกระทบที่มีต่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ โดยระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงครั้งใหญ่

ส่วน จอห์น เคอร์บี แห่งสภาความมั่นคงแห่งชาติ ยืนยันว่า สหรัฐฯ มิได้ต้องการสร้างความขัดแย้งกับจีน และต้องการเปิดช่องทางการสื่อสารเอาไว้ แต่ตอนนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่รัฐมนตรีบลิงเคนจะเดินทางเยือนจีน

โอกาสฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต

นอกจากการเยือนจีนของรัฐมนตรีบลิงเคนที่ถูกเลื่อนออกไปแล้ว ยังมีอีกหลายโอกาสที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ กับจีนจะสามารถพบเจอกันบนเวทีโลกได้ รวมทั้งการประชุมด้านความมั่นคงที่นครมิวนิค เยอรมนี ในวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งคาดว่ารัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ และรัฐมนตรีบลิงเคน จะร่วมประชุมด้วย แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าทั้งสองฝ่ายมีกำหนดการหารือกันหรือไม่

นอกจากนี้ รัฐมนตรีบลิงเคนยังมีโอกาสพบกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนที่การประชุมกลุ่ม จี20 ที่อินเดีย ในเดือยมีนาคม

Senators attend a classified hearing on the suspected Chinese spy balloon on Capitol Hill
Senators attend a classified hearing on the suspected Chinese spy balloon on Capitol Hill

อีกโอกาสหนึ่งคือ การเยือนจีนโดยรัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่ยังมิได้เปิดเผยกำหนดการ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์กล่าวยินดีต้อนรับรัฐมนตรีเยลเลนแล้ว

ถึงกระนั้น นักวิเคราะห์เชื่อว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องเดินทางเยือนจีนเพื่อพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่อรับรองกับจีนในประเด็นที่อ่อนไหวต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น ประเด็นไต้หวันและรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม บอนนี เกลเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียแห่ง German Marshall Fund of the United States เตือนว่า แรงกดดันจากความไม่พอใจของประชาชนในทั้งสองประเทศต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่ายังเร็วเกินไปที่ทางการสหรัฐฯ กับจีน จะเริ่มกลับมาสานสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง

"จีนไม่ต้องการให้ตัวเองดูอ่อนแอและไม่อยากยอมรับว่าโกหก (เกี่ยวกับบอลลูน) ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดนก็เผชิญแรงกดดันจากสมาชิกพรรครีพับลิกันที่ยืนยันว่า ควรยิงบอลลูนให้ตกลงมาเร็วกกว่านี้" เกลเซอร์กล่าว

  • ที่มา: รอยเตอร์ และวีโอเอ

XS
SM
MD
LG