ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ไบเดนเผชิญ 'ยุคสมัยคาดเดาไม่ได้' ภายใต้ระบอบสี จิ้นผิง


BIDEN-XI
BIDEN-XI

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน กำลังเผชิญความไม่แน่นอนที่ยากจะคาดเดาจากรัฐบาลจีนภายใต้การปกครองสมัยที่สามของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เปราะบางของสองประเทศ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีมติรับรองการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สาม ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งจะปกครองจีนไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งการขยายเวลาการครองอำนาจครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเดียวกับที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและการทหารฉบับใหม่ ที่สะท้อนให้เห็นว่า จีนคือคู่แข่งสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทั้งในด้านการทหารและเศรษฐกิจ

โจ ไบเดน และ สี จิ้นผิง พบกันครั้งแรกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน เมื่อครั้งที่ทั้งสองคนยังคงดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี แต่ในขณะนี้ทั้งคู่ต่างอยู่ในฐานะผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดสองประเทศ และสีถือเป็นผู้นำจีนที่ทรงอำนาจมากที่สุดนับตั้งแต่ยุคสมัยของ เหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน

จู๊ด แบลงเชตต์ นักวิเคราะห์แห่ง Center for Strategic and International Studies กล่าวว่า แม้ยุคสมัยของสี จิ้นผิง จะต่างจาก เหมา เจ๋อตง แต่ก็ถือว่าจีนได้ก้าวเข้าสู่ดินแดนใหม่ที่คาดเดาได้ยากทั้งในด้านของเสถียรภาพและระบอบการเมือง

การพบกันของสองผู้นำ

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีไบเดนเข้ารับตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการพูดคุยทางโทรศัพท์และวิดีโอกับประธานาธิบดีสีแล้ว 5 ครั้ง โดยคาดว่า ปธน.ไบเดน และปธน.สี จะจัดการหารือนอกรอบจากการประชุมสุดยอดของกลุ่ม G-20 ที่อินโดนีเซียในเดือนหน้า ซึ่งเป็นการประชุมที่มีขึ้นหลังจากความสัมพันธ์อันตึงเครียดของสองประเทศในช่วงสองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี การระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และประเด็นไต้หวัน

จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ กับจีนมีหลายเรื่องที่ต้องหารือกัน ทั้งประเด็นที่ต้องแข่งขันกันและร่วมมือกัน พร้อมเสริมว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และจีนต่างกำลังพยายามทำให้การประชุมนอกรอบครั้งนี้เกิดขึ้นให้ได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดนได้เน้นย้ำหลายครั้งถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งรวมถึงชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ตลอดจนการปราบปรามผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง การใช้กำลังทหารยั่วยุไต้หวัน และการไม่ร่วมประณามรัสเซียที่ส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน

ทางด้านรัฐบาลจีนเองก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอเมริกันเกี่ยวกับท่าทีและจุดยืนในประเด็นไต้หวัน ซึ่งจีนเชื่อว่าเป็นการกัดเซาะอธิปไตยและบูรณภาพเหนือดินแดนของจีน ขณะที่ประธาธิบดีสีกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามสกัดกั้นการเจริญเติบโตของจีนเพราะเกรงว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ขึ้นเป็นที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ประธานาธิบดีสี กล่าวในการปราศรัยต่อที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อหลายวันก่อนว่า "ความพยายามจากภายนอกเพื่อโอบล้อมและกดทับแจีนเอาไว้นั้นอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา... จีนต้องตระหนักถึงภัยอันตรายที่มีอยู่และเตรียมรับมือในกรณีที่เลวร้ายที่สุด"

ท่าทีที่เปลี่ยนไป?

อย่างไรก็ตาม ดาลี หยาง นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก (University of Chicago) เชื่อว่า มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ และจีนอาจพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้หลังจากนี้ เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทูตของจีนสองคนซึ่งคุ้นเคยกับสหรัฐฯ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการกลาง 24 คนของโพลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วย ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน หวัง อี้ และเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ จิน กัง

หยาง กล่าวด้วยว่า มีสมาชิกระดับสูงบางส่วนของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ต้องการให้จีนลดระดับความสัมพันธ์กับรัสเซียลง และว่า ขณะนี้ประธานาธิบดีสีมีอำนาจมากขึ้นและน่าจะเป็นกังวลต่อประเทศคู่แข่งน้อยลง ซึ่งอาจทำให้ท่าทีที่มีต่อรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนเปลี่ยนไปได้เช่นกัน

เมื่อวันพุธที่แล้ว ปธน.ไบเดน กล่าวระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯมิได้ต้องการสร้างความขัดแย้งกับจีน และอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สถานีโทรทัศน์ของทางการจีนรายงานว่า ปธน.สี ได้กล่าวกับสมาชิกคณะกรรมาธิการแห่งชาติของจีนว่า จีนอาจจะสามารถหาทางทำงานร่วมกับสหรัฐฯ ในประเด็นที่มีความกังวลร่วมกันได้

ถึงกระนั้น ในอีกหนึ่งวันต่อมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน ต่างออกมากล่าวโจมตีกันและกันเกี่ยวกับเรื่องที่สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการควบคุมการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ไปยังจีนซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหลายประเภทในจีน

ความสัมพันธ์เชิงการค้า

ปัจจุบัน เศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง โดยรายงานจากทางการจีนระบุว่า เศรษฐจีนขยายตัวที่ระดับเพียง 3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งอาจทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีต่ำกว่าระดับ 5.5% ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าลดลง และราคาที่อยู่อาศัยลดลงอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี

นอกจากนี้จีนยังเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และยุโรป ในอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนอาจยังไม่สามารถแซงหน้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ทันภายในปีค.ศ. 2030 ตามที่เคยคาดการณ์กันไว้

รุเชียร์ ชาร์มา ประธานองค์กร Rockefeller International เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะสามารถแซงสหรัฐฯ ได้ในปีค.ศ. 2060 หรืออาจไม่สามารถแซงได้เลยในที่สุด

สำหรับในประเด็นไต้หวัน บรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ต่างกังวลว่า จีนอาจเร่งใช้กำลังทหารยึดครองไต้หวันเร็วขึ้นกว่าเดิม โดยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน เชื่อว่า จีนได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยอมรับสถานะของไต้หวันในขณะนี้

คีธ แครช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ในสมัยปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลเมื่อสี จิ้นผิง ครองตำแหน่งสมัยที่สามและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ คือเขาอาจใช้การควบรวมไต้หวันเป็นจุดเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาภายในประเทศได้

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ยิ่งตึงครียดขึ้นเมื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี เพโลซี เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมท่ามกลางการคัดค้านของจีน

  • ที่มา: เอพี
XS
SM
MD
LG