กระทรวงพาณิชย์อเมริกันเปิดเผยวันพุธว่า ราคาสินค้าในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน เพิ่มขึ้น 9.1% ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดตั้งเเต่เดือนพฤศจิกายนปี 1981 หรือเกือบ 41 ปีก่อน
ตัวเลขดังกล่าวกระตุ้นการคาดหมายว่า ระบบธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ "เฟด" จะขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในเดือนนี้ ตามรายงานของรอยเตอร์
อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวสูงกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้ และสะท้อนถึงราคาที่พุ่งขึ้นของนัำมัน อาหาร ค่าเช่าบ้าน ตลอดจน ยานพาหนะ การดูเเลสุขภาพ เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์บ้าน
ช่วงที่ผ่านมา ในประเทศต่าง ๆ เผชิญปัจจัยที่ผลักดันราคาสินค้าให้สูงขึ้นหลายด้าน เช่น สงครามในยูเครน ที่ทำให้ราคาอาหารและพลังงานโลกแพงขึ้น รวมถึงปัญหาระบบผลิตเเละขนส่งสินค้าโลกที่ติดขัด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศในช่วงต้นของการระบาดของโคโรนาไวรัส
การเปิดเผยตัวเลขราคาสินค้าเดือนมิถุนายนโดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ครั้งนี้ เกิดขึ้นไม่นานหลังจากตัวเลขภาคเเรงงานสะท้อนว่า มีคนถูกจ้างงานเพิ่มขึ้นดีกว่าคาดในเดือนเดียวกัน
รอยเตอร์ระบุว่า ที่ผ่านมาเฟดใช้มาตรการทางการเงินที่เเข็งขัน แต่เหมือนว่าจะไม่ได้ผลมากนักในการลดความร้อนเเรงของอุปสงค์ภายในประเทศและดึงเงินเฟ้อให้เป็นไปตามเป้าที่ 2%
แม้ว่าปรากฏการณ์เงินเฟ้อที่รุนเเรงจะเป็นประเด็นที่ทั่วโลกเผชิญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ราคาสินค้าที่เเพงขึ้นสร้างความท้าทายทางการเมืองต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และพรรคเดโมเเครตของเขา ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกในเดือนพฤศจิกายนนี้
ในวันพุธเช่นกัน ธนาคารกลางของเเคนาดาประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1% เต็ม ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดตั้งเเต่ปี 1998 หรือ 24 ปีก่อน
- ที่มา: รอยเตอร์