อุปสรรคสำคัญ 3 ประการของการแก้ไขกฏหมายควบคุมอาวุธปืนในอเมริกา

US Gun Control

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมือง ซาน เบอนาร์ดิโน่ จุดประเด็นให้มีการถกเถียงเรื่องกฏหมายควบคุมอาวุธปืนในอเมริกาอีกครั้ง

Your browser doesn’t support HTML5

Gun Control

แทบทุกครั้งที่มีเหตุการณ์สังหารหมู่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ปธน.บารัค โอบาม่า จะออกมากล่าวถึงการปรับแก้กฏหมายควบคุมอาวุธปืนให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น

โดยตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีโอบาม่าได้มีคำแถลงเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารหมู่มาแล้ว 15 ครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดที่เมือง ซาน เบอนาร์ดิโน่ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 21 ราย

อย่างไรก็ตาม คนอเมริกันต่างทราบดีว่าการปรับแก้กฏหมายที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเหตุผลหลักๆ 3 ข้อด้วยกัน

ข้อแรกคือค่านิยมของคนอเมริกัน

Vin Weber อดีต ส.ส พรรครีพับลิกัน ที่ปัจจุบันผันตัวมาเป็นนักล็อบบี้ กล่าวว่าหนึ่งในความเชื่อดั้งเดิมของคนอเมริกัน ก็คือการครอบครองอาวุธปืนนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นอเมริกันชน

คนอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่า บทแก้ไขรัฐธรรมนูญบทที่ 2 ระบุให้คนอเมริกันมีสิทธิเสรีในการครอบครองอาวุธปืน

เหตุผลข้อที่สองคือสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติหรือ NRA

NRA เป็นองค์กรที่มีอิทธิพลอย่างมากในรัฐสภาสหรัฐฯ ปัจจุบันเชื่อว่าองค์กรนี้มีมูลค่าราว 300 ล้านดอลล่าร์ และมีสมาชิกราว 4 ล้านคน

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา NRA ได้ใช้เงินราว 10 ล้านดอลล่าร์เพื่อล็อบบี้เรื่องสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน

Vin Weber กล่าว NRA มีอิทธิพลอย่างสูงเพราะเป็นตัวแทนของคนจริงๆ ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการทางการเมือง ทั้งการแสดงความคิดเห็นและเลือกตั้งอย่างกระตือรือร้น

เหตุผลข้อที่สามคือทัศนคติที่แตกแยกกันในเรื่องนี้ของคนอเมริกัน

ที่ผ่านมา พรรคเดโมแครตจะเป็นผู้เสนอให้ปรับแก้กฏหมายควบคุมอาวุธปืน และพรรครีพับลิกันจะเป็นผู้คว่ำข้อเสนอนั้น ทำให้จุดยืนเรื่องอาวุธปืนมักจะสะท้อนจุดยืนทางการเมืองของคนอเมริกันด้วย

ผลการสำรวจความเห็นของศูนย์วิจัย PEW Research ระบุว่า 50% ของคนอเมริกันสนับสนุนสิทธิในการครอบครองอาวุธปืนมากกว่าการควบคุมอาวุธปืน

คุณ Carroll Doherty แห่ง PEW Research ระบุว่าผลสำรวจดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงเหตุผลหลักของคนอเมริกันที่ต้องการครอบครองอาวุธปืน คือเพื่อปกป้องตนเอง

Obama meet with the security team to analyze shotting in San Bernardino

แรงกดดันของผู้ต่อต้านกาารครอบครองอาวุธปืนอย่างเสรี

กลุ่มต่อต้านอาวุธปืนกำลังพยายามให้ ปธน.โอบาม่า ใช้อำนาจกดดันบรรดาบริษัทผู้ผลิตอาวุธปืนรายใหญ่ ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางการแจกจำหน่ายอาวุธปืน และให้ลงโทษร้านขายปืนที่ลูกค้าของพวกเขานำอาวุธไปใช้ในทางอาชญากรรม

บาทหลวง Anthony Bennett หนึ่งในผู้ต่อต้านการครอบครองอาวุธปืนอย่างเสรี กล่าวว่าสิ่งที่พวกตนต้องการนั้นไม่ใช่การควบคุมหรือห้ามขายอาวุธปืน แต่เป็นการเรียกร้องให้มีระบบตรวจสอบที่เข้มวงดขึ้น เพื่อไม่ให้อาวุธปืนนั้นตกไปอยู่ในมือของอาชญากร

แม้ความเห็นในเรื่องการครอบครองอาวุธปืนในอเมริกายังมีความแตกต่างกันอยู่มาก แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีมาตรการสักอย่างเพื่อยุติเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากอาวุธปืน

ส่วนมาตรการนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ดูเหมือนยังไม่มีใครล่วงรู้ได้

(ผู้สื่อข่าว Carolyn Presutti มีรายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)

Mourners gather around a makeshift memorial in honor of victims following Wednesday's attack in San Bernardino, California December 5, 2015.