ลิ้งค์เชื่อมต่อ

พนง.เกาหลีหวั่นการคืนชีพ ‘วัฒนธรรมบังคับสังสรรค์หลังเลิกงาน’ หลังโควิด


회식
회식

การดื่มสังสรรค์หลังเลิกงานเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันมาช้านานในสังคมการทำงานออฟฟิศในประเทศเกาหลีใต้ ก่อนที่ภาวะการระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้กิจกรรมนี้หายไป แต่เมื่อสถานการณ์การระบาดในเกาหลีใต้อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น กิจกรรมสังสรรค์หลังเลิกงานของโสมขาวจะกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลของพนักงานบริษัทในเกาหลีใต้

เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศระงับการใช้มาตรการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสเกือบทั้งหมด ส่งผลให้พนักงานบริษัทบางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความวิตกกังวลว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมที่ถูกยกเลิกไป อาจจะทำให้วัฒนธรรม ฮเวชิก (hoeshik) ซึ่งเป็นการบังคับให้พนักงานบริษัทสังสรรค์หลังเลิกงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างใดๆ หวนคืนสู่สังคมออฟฟิศอีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ กฎการจำกัดการชุมนุมได้ไม่เกิน 10 คนควบคู่ไปกับมาตรการเคอร์ฟิวตอนเที่ยงคืนสำหรับร้านอาหารและบาร์ ได้ช่วยให้บริษัทต่างๆหันไปทำงานจากบ้านและหลีกเลี่ยงการจัดงานต่างๆที่ไม่จำเป็น รวมถึง การจัดเลี้ยงเพื่อดื่มสังสรรค์หลังหมดเวลาทำงาน

จัง พนักงานวัย 29 ปีที่บริษัทแห่งหนึ่งในกรุงโซล ในประเทศเกาหลีใต้ เธอเลือกที่จะไม่ใช้ชื่อจริงและได้เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า วัฒนธรรม ฮเวชิก หรือการสังสรรค์หลังเลิกงานนั้นเป็นสิ่งโบราณและเป็นการรบกวนเวลาส่วนตัวของพนักงาน โดยฮเวชิกถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตการทำงานก็จริง เพียงแต่ผู้ที่เข้าร่วมจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ และสิ่งที่เลวร้ายที่สุด คือ ไม่มีใครรู้ว่าการสังสรรค์จะจบลงเมื่อไหร่ บางครั้งถ้ามีการดื่มด้วย อาจใช้เวลาไปถึงช่วงดึกเลยด้วยซ้ำ”

ความคิดเห็นของ จัง เป็นหนึ่งในความรู้สึกของพนักงานบริษัทของเกาหลีใต้ที่เห็นไปในทิศทางเดียวกันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่ต่างไม่ชอบกิจกรรมที่ต้องเข้าร่วมทานอาหารหรือร่วมงานต่างๆ กับบริษัท อย่างเช่น การไปพักร้อนกับบริษัท หรือการเดินป่ากับเพื่อนร่วมงานในช่วงเวลาที่นอกเหนือเวลาทำงานปกติ

ทั้งนี้ ซู ยอง-กู ผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ด้านการตลาดแห่งมหาวิทยาลัย Sookmyung Women's University ของกรุงโซล อธิบายว่า การระบาดของโควิดอาจทำให้วัฒนธรรมฮเวชิก ค่อยๆเลือนหายไปในที่สุด

เธอชี้ว่า ปัจจุบัน พนักงานทราบดีว่าการมีเวลาส่วนตัวหลังเลิกนั้นดีเช่นไร ดังนั้น บริษัทไม่น่าจะหวนกลับไปใช้วัฒนธรรมเก่า อย่างเช่น การทานอาหารหลังเลิกงานหรือการจัดกิจกรรมช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ได้

จัง พนักงานบริษัทในกรุงโซล เห็นด้วยกับอาจารย์ผู้นี้ และบอกว่าในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา เธอไม่ต้องปฏิบัติตามวัฒนธรรมฮเวชิกเพราะโควิด-19 เธอจึงมีเวลาทำความสะอาด ทำอาหารเย็นอร่อยๆให้ตนเอง หรือนำเวลาไปใช้ออกกำลังกายแทน

ทางด้าน คิมวูนบอง ข้าราชการวัย 30 ปี บอกเช่นกันว่า เขารู้สึกโชคดีที่กฎการเว้นระยะห่างทางสังคมทำเขาไม่ต้องถูกบังคับเข้าร่วมวัฒนธรรมฮเวชิก

เขากล่าวว่า เขาชอบการทานอาหารร่วมกันช่วงเวลากลางวันเพราะรู้สึกว่ามันจะจบลงภายในเวลาบ่ายโมงตรง และหวังลึกๆว่า วัฒนธรรมการทานอาหารเย็นหลังเวลาเลิกงานจะเปลี่ยนไปเช่นกัน เพราะสิ่งนี้ได้หายไปเกือบสองปีแล้ว

ด้านผลสำรวจของบริษัทจัดหางาน Incruit Corp ระบุว่า เกือบ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามชี้ว่า วัฒนธรรมการทานอาหารในบริษัทของพวกเขาเปลี่ยนไป ซึ่ง 95% ของผู้ที่ตอบเช่นนี้บอกว่าพวกเขารู้สึกพอใจกับการเปลี่ยนแปลงข้างต้น

แม้พนักงานบริษัทรุ่นใหม่จะบอกว่าไม่ชอบการสังสรรค์หลังเลิกงาน อาจารย์การตลาดแห่งมหาวิทยาลัย Sookmyung Women's University กล่าวเสริมว่า พนักงานอาวุโสส่วนใหญ่นั้นยังเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมฮเวชิกอยู่ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนในองค์กร แต่อาจารย์ซูยอมรับว่า การจัดงานสังสรรค์หลังเลิกงานอาจไม่เกิดขึ้นบ่อยเหมือนเมื่อก่อน

ทางด้านผู้ประกอบการ เช่นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้อย่าง SK Telecom Co ซึ่งทางบริษัทอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน จากที่ออฟฟิส หรือแบบผสมผสาน ได้แสดงความคิดเห็นอย่างไม่เปิดเผยชื่อว่า บริษัทไม่มีกฎชัดเจนเรื่องการสังสรรค์หลังเลิกงาน แต่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นน้อยลงเพราะพนักงานบางส่วนยังทำงานที่บ้าน

  • ที่มา: รอยเตอร์
XS
SM
MD
LG