ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘แพลงก์ตอน’ สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในมหาสมุทรกับบทบาทแหล่งผลิตอ๊อกซิเจนแหล่งใหญ่ของโลก


‘แพลงก์ตอน’ สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในมหาสมุทรกับบทบาทแหล่งผลิตอ๊อกซิเจนแหล่งใหญ่ของโลก

แพลงก์ตอนคือผู้ผลิตอ๊อกซิเจน ช่วยกำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และช่วยรักษาสภาพทั่วไปของโลกให้อยู่ในสถานะที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ สามารถดำรงชีพอยู่ได้

คนทั่วไปต่างเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กใต้มหาสมุทรที่เรียกว่า “แพลงก์ตอน” มีบทบาทต่อห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ ด้วยการเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดใหญ่กว่าเท่านั้น แต่งานวิจัยชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science ซึ่งใช้เวลาศึกษาถึง 4 ปี ค้นพบว่า แพลงก์ตอนยังเป็นแหล่งสร้างอ๊อกซิเจนแหล่งใหญ่ของโลกด้วย

แพลงก์ตอนนั้นหมายถึงคือกลุ่มสิ่งมีชีวิตหลากหลายประเภท ตั้งแต่พืชเซลล์เดียว สาหร่าย แบคทีเรีย สัตว์น้ำ รวมทั้งจุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำชั้นบนของทะเล มหาสมุทร หรือแหล่งน้ำจืดทั่วโลก

แพลงก์ตอนบางประเภทไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะมีขนาดเล็กมาก แต่บางชนิดก็มีขนาดใหญ่ เช่นแมงกระพรุน ปกติแล้วแพลงก์ตอนมักตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะวาฬ

องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในฝรั่งเศสชื่อ Tara Expeditions ได้ริเริ่มโครงการ Tara Oceans ขึ้นเมื่อปี ค.ศ 2009 ด้วยความร่วมมือของนักวิทยาศาสตร์ราว 200 คนจาก 45 ประเทศ เพื่อศึกษาชีวิตของแพลงก์ตอนตามแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็ม 210 แห่ง โดยนักวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมตัวอย่างแพลงก์ตอน 35,000 ตัวอย่าง แล้วนำมาศึกษาการดำรงชีวิต พันธุกรรม และการเคลื่อนไหวต่างๆ ของแพลงก์ตอนเหล่านั้น

ข้อมูลการศึกษาที่รวบรวมมาได้จะถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์พันธุกรรม การปรับตัว และการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแพลงก์ตอนชนิดต่างๆ และกับสัตว์น้ำอื่นๆ โดยจะมีการเปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ว่านี้เป็นระยะๆ ในวารสารวิทยาศาสตร์ Science

คุณ Chris Bowler ผู้ประสานงานด้านวิทยาศาสตร์ของ Tara Oceans กล่าวว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบคือ แพลงก์ตอนเหล่านั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อสภาพความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนโลกของเรา คุณ Bowler อธิบายว่า แพลงก์ตอนคือผู้ผลิตอ๊อกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป และยังช่วยกำจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ ช่วยรักษาสภาพทั่วไปของโลกให้อยู่ในสถานะที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆสามารถดำรงชีพอยู่ได้

นักวิทยาศาสตร์ของ Tara Oceans ระบุว่าเกือบครึ่งหนึ่งของอ๊อกซิเจนบนโลกมาจากไดอะตอม ซึ่งเป็นพืชเซลล์เดียวขนาดเล็กที่สามารถสังเคราะห์แสงได้และลอยอยู่ตามผิวน้ำด้านบนของแหล่งน้ำและมหาสมุทรต่างๆ นั่นหมายความว่า 1 ใน 5 ของอ๊อกซิเจนที่เราสูดเข้าไปนั้น มาจากไดอะตอม ดังนั้นไดอะตอมซึ่งเป็นแพลงก์ตอนประเภทหนึ่งจึงมีความสำคัญพอๆ กับป่าฝนเขตร้อนหรือป่าดิบชื้น ในแง่ของปริมาณอ๊อกซิเจนที่ผลิตออกมาสู่โลก

ด้านคุณ Romain Trouble’ ผอ.ฝ่ายบริหารของ Tara Expeditions ระบุว่าผลการศึกษาครั้งนี้ช่วยยืนยันได้ว่า มหาสมุทรคือแหล่งผลิตอ๊อกซิเจนแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก และนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมโครงการนี้ยังเชื่อด้วยว่า มหาสมุทรมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กักเก็บความร้อน ทำให้โลกเราไม่เผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมากเกินไป

และที่ยังเป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะทะเลและมหาสมุทรต่างๆ ยังอยู่ในสภาพที่ดี คือยังไม่ถูกทำลายมากเกินไป

ผู้สื่อข่าว George Putic รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง

เกี่ยวข้อง

XS
SM
MD
LG