ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฟิลิปปินส์พร้อมมุ่งผูกมิตรจีน-เก็บสหรัฐฯ ไว้ใกล้ตัว ภายใต้ ‘มาร์กอส จูเนียร์’?


Son and namesake of Philippine dictator Ferdinand Marcos Jr. campaigns for president
Son and namesake of Philippine dictator Ferdinand Marcos Jr. campaigns for president

ภายหลังมีรายงานข่าวผลการนับคะแนนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมอย่างไม่เป็นทางการออกมา นักวิเคราะห์หลายคนออกมาให้ความเห็นกันทันทีว่า ทายาทอดีตผู้นำเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซึ่งเป็นว่าที่ผู้ชนะการเลือกตั้งวัย 74 ปีนี้น่าจะพยายามหันไปสานสัมพันธ์กับจีนให้แน่นแฟ้นขึ้น โดยไม่เสียแรงหนุนจากสหรัฐฯ ที่มีอยู่ไป

สำนักข่าว Radio Free Asia ซึ่งเป็นสื่อภายใต้ USAGM เช่นเดียวกับ วีโอเอ รายงานว่า มาร์กอส จูเนียร์ หรือ ‘บองบอง’ เคยกล่าวไว้ว่า ตนต้องการจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยจะไม่กลับไปพูดถึงประเด็นคำพิพากษาเมื่อปี ค.ศ. 2019 โดยศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ณ กรุงเฮก ซึ่งปฏิเสธคำอ้างอธิปไตยของจีนเหนือน่านน้ำทะเลจีนใต้ หลังกรุงมะนิลายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลดังกล่าวเพื่อแย้งคำอ้างของกรุงปักกิ่ง

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างหาเสียงนั้น มาร์กอส จูเนียร์ ไม่ค่อยพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับจีนมากนัก ซึ่งต่างจากประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตรเต้ ที่ชูธงหนุนจีนมาตั้งแต่เมื่อรับตำแหน่งในปี ค.ศ. 2016 ก่อนที่ สายสัมพันธ์ฟิลิปปินส์-จีนจะเริ่มย่ำแย่ลง จนรัฐบาลกรุงมะนิลาค่อย ๆ หันไปหากรุงวอชิงตันอีกครั้งเพื่อขอแรงสนับสนุนทางทหารเพื่อเตรียมพร้อมหากเกิดกรณีความขัดแย้งทางทะเลกับกรุงปักกิ่ง

แผนหาเสียงที่มุ่งล้างภาพในอดีต

ศูนย์ Center for Strategic and International Studies ระบุในบทความแสดงความคิดเห็นที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันจันทร์ว่า ขณะที่ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้เป็นพ่อและเป็นประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งคนแรกของฟิลิปปินส์ในปี ค.ศ. 1965 ถูกจดจำว่า เป็นผู้นำที่ทำการคุมขัง ทรมาน และสังหารผู้คนนับพันก่อนจะถูกโค่นอำนาจด้วยการปฏิวัติพลังประชาชนในปี ค.ศ. 1986 มาร์กอส จูเนียร์ กลับหาเสียงเลือกตั้งด้วยการมุ่งสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพ่อของตน โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ว่า “เป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุขและรุ่งเรือง” และปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในช่วงการโต้วาทีหรือการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้มาโดยตลอด

Philippines Marcos Burial
Philippines Marcos Burial

บทความดังกล่าวระบุด้วยว่า มาร์กอส จูเนียร์ ประกาศอย่างชัดเจนว่า ตนต้องการจะลองปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนดูบ้าง หลังปธน.ดูเตร์เต้ พยายามแล้วประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว

นักวิเคราะห์ประเมินว่า ว่าที่ผู้ชนะการเลือกตั้งรายนี้น่าจะพยายามหาเส้นทางเดินสายกลางเข้าหาทั้งจีนและสหรัฐฯ มากกว่าจะกระโจนเข้าใส่จีนเต็มตัว

อย่างไรก็ดี ซาตู ลิมาเย รองประธานองค์กรวิจัย East-West Center ซึ่งตั้งอยู่ที่นครโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ชี้ว่า การที่เม็ดเงินลงทุนจำนวนมหาศาลจากจีนมายังฟิลิปปินส์นั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้ทิศทางนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลกรุงมะนิลายังต้องเปิดกว้างต่อไป เพราะ “จีนยังเป็นขาใหญ่ภูมิภาคนี้” และ “ฟิลิปปินส์เองก็มีความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับจีน ขณะที่ (จีนเอง) จะช่วยสร้างสมดุล ... อย่างที่มีคนกล่าวไว้ ... ในความสัมพันธ์ที่มีการพึ่งพาสหรัฐฯ มากเกินไปด้วย”

วีโอเอ ติดต่อไปยังสถานทูตจีน ในกรุงวอชิงตัน เพื่อสอบถามประเด็นนี้ และโฆษกของสถานทูตฯ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ โดยระบุว่า การลงคะแนนเลือกตั้ง “เป็นกิจการภายใน”

เอนริโก เคา ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แห่งสมาคม Taiwan Strategy Research Association กล่าวว่า โดยปกติ ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักพยายามสร้างสัมพันธภาพ “อย่างมีสมดุล” กับจีนและสหรัฐฯ โดยมักหันไปหาจีนเพื่อขอความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และหันไปคุยกับสหรัฐฯ เพื่อความแรงสนับสนุนด้านการทหาร ดังนั้น “การสร้างสมดุลระหว่างทั้งสองจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ (สำหรับประเทศต่าง ๆ)”

ประเด็นพิพาททะเลจีนใต้ ที่ยังไม่มีทางออก

FILE - Filipino activists march to protest against the presence of Chinese vessels in disputed parts of the South China Sea, at the Chinese Embassy in Makati City, Philippines, April 9, 2019.
FILE - Filipino activists march to protest against the presence of Chinese vessels in disputed parts of the South China Sea, at the Chinese Embassy in Makati City, Philippines, April 9, 2019.

เรือตรวจการณ์ชายฝั่งของจีนและเรือประมงของจีนกลับมาล่องตามแนวเส้นทางในทะเลจีนใต้ที่ฟิลิปปินส์ยืนยันว่า อยู่ภายใต้อธิปไตยของตน ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเหมือนบททดสอบมิตรภาพระหว่างปธน.ดูเตรเต้และรัฐบาลกรุงปักกิ่ง จนกระทั่งถึงช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2021 ที่เรือจีนเข้าทอดสมอบริเวณแนวปะการังที่เป็นพื้นที่พิพาทระหว่างทั้งสองประเทศ จนทำให้ชาวฟิลิปปินส์และคณะรัฐมนตรีของปธน.ดูเตรเต้ไม่พอใจอย่างมาก

แต่สำหรับรัฐบาลใหม่ที่น่าจะนำโดย มาร์กอส จูเนียร์ นั้น เอนริโก เคา จากสมาคม Taiwan Strategy Research Association ประเมินว่า น่าจะหาทางแก้ปัญหาผ่านการทำงานร่วมกันของสถานทูตของทั้งสองประเทศ พร้อม ๆ กับการยกระดับมาตรการด้านความมั่นคงตามแนวชายฝั่งเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งใหม่ ๆ ขึ้นมาอีก

เคา กล่าวว่า แนวโน้มที่เริ่มปรากฏขึ้นในเวลานี้คือ การดำเนินแนวทางที่ค่อนข้างขัดแย้งกันไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งก็คือ “การเอาใจจีนเข้าไว้ เพราะฟิลิปปินส์ในเวลานี้ยังไม่มีสรรพกำลังความสามารถที่จะต่อต้านอะไรได้ ขณะที่พยายามพัฒนามาตรการที่เหมาะสมขึ้นมาสำหรับการรับมือจีนในอนาคตไปด้วย”

ที่ผ่านมา จีนชูเอกสารทางประวัติศาสตร์เพื่ออ้างสิทธิ์เหนือราว 90% ของพื้นที่ 3,500,000 ตารางกิโลเมตรของทะเลจีนใต้ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยทับซ้อนกับพื้นที่ที่บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม อ้างสิทธิ์เหมือนกัน ขณะที่ จีนเองก็ทำให้ประเทศเหล่านี้ที่มีความพร้อมทางทหารที่อ่อนแอกว่ามากตื่นตระหนกตลอดช่วยทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการเดินหน้าถมทะเลเพื่อติดตั้งสรรพกำลังอาวุธทางทหารของตนในพื้นที่ทะเลจีนใต้ด้วย

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG