ลิ้งค์เชื่อมต่อ

วิเคราะห์: เหตุใด ‘ไบเดน’ ไม่ระบุเงื่อนไขช่วยเหลือทางทหารแก่อิสราเอล?


แฟ้มภาพ: ปธน.โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ระหว่างเยือนกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เมื่อ 18 ต.ค. 2023 (รอยเตอร์)
แฟ้มภาพ: ปธน.โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ร่วมหารือกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล ระหว่างเยือนกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล เมื่อ 18 ต.ค. 2023 (รอยเตอร์)

สงครามอิสราเอล-ฮามาสดำเนินมาเกือบครึ่งปีแล้ว โดยที่การเจรจาหยุดยิงรอบใหม่ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง แม้ฝั่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน และคณะทำงานของเขาจะออกโรงกดดันในหลายมิติ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นงัดไม้แข็งมาใช้ ในเรื่องการกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือทางการทหารแก่อิสราเอล

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เดินหน้ากดดันรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ให้เปิดทางส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพิ่มมากขึ้น และลดปฏิบัติการทางทหารในฉนวนกาซ่าลงไป ซึ่งแรงกดดันต่าง ๆ จากฝั่งสหรัฐฯ ก็มีทั้งการเปิดหน้าวิจารณ์อิสราเอลต่อสาธารณชน และการงดออกเสียงในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยมติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในกาซ่า

อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดน กลับไม่เลือกใช้ข้อต่อรองที่แข็งแกร่งที่สุด นั่นคือการกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่ออิสราเอล โดยที่ผ่านมารัฐบาลกรุงวอชิงตัน มอบความช่วยเหลือให้แก่รัฐบาลกรุงเทลอาวีฟ เกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งความช่วยเหลือส่วนใหญ่เป็นรูปแบบของความช่วยเหลือทางการทหาร

นักการเมืองทั้งสภาสูงและสภาล่างจากพรรคเดโมแครตที่ไบเดนสังกัด ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ และเรียกร้องให้ไบเดนปฏิบัติตามกฎหมายความช่วยเหลือระหว่างประเทศ หรือ Foreign Assistance Act และตัดความช่วยเหลือด้านการทหาร หากอิสราเอลยังคงดึงดันที่จะปิดกั้นการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในกาซ่า

ด้านผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตเองก็แสดงจุดยืนเกี่ยวกับท่าทีของไบเดน โดยผู้ไปลงคะแนนเลือกตั้งขั้นต้นหลักแสนรายได้กาบัตรเลือกตั้งในช่อง uncommitted หรือ ไม่เลือกผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีรายใดเป็นการเฉพาะ ในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครต นับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้น

ในผลโพลล์ล่าสุดชี้ว่า 75% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ตอนนี้ไม่สนับสนุนแนวทางการทำสงครามของอิสราเอล ขณะที่ 56% มองว่าการเดินหน้าส่งความช่วยเหลือด้านทหารให้แก่อิสราเอลของสหรัฐฯ จะยิ่งทำให้พวกเขาสนับสนุนผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายนั้นน้อยลงไป

แม้จะต้องเผชิญกับผลกระทบทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากสงครามกาซ่า แต่ไบเดนยังคงยืนหยัดการสนับสนุนอิสราเอล นักวิเคราะห์ต่างมองว่ามีอย่างน้อย 2 ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ นั่นคือ ความกลัวของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าสงครามจะขยายวงกว้างไปไกลกว่าฉนวนกาซ่า และมุมมองที่ปธน.ไบเดนมีมายาวนานและลึกซึ้งเกี่ยวกับความสำคัญของความมั่นคงของอิสราเอล

ผู้สนับสนุนแนวคิดไซออนนิสต์

นับตั้งแต่ประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ให้การรับรองอิสราเอลไม่กี่นาทีหลังการก่อตั้งเมื่อปี 1948 ประธานาธิบดีชาวอเมริกันทุกคนให้การสนับสนุนอิสราเอลมาโดยตลอด

ในทัศนะของแอรอน เดวิด มิลเลอร์ นักวิชาการอาวุโส แห่ง Carnegie Endowment for International Peace และอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายตะวันออกกลางให้กับทั้งฝ่ายรีพับลิกันและเดโมแครต มองว่า ไบเดนมีจุดยืนที่โดดเด่นในหมู่ผู้นำสหรัฐฯ ในเรื่องนี้ ด้วยแนวคิด “ความมุ่งมั่นต่อแนวคิดต่ออิสราเอล ชาวอิสราเอล และความมั่นคงของอิสราเอลที่พิเศษ” กว่าผู้นำคนอื่น และในหลายวาระ ปธน.ไบเดน ซึ่งมีเชื้อสายไอริชแคทอลิก เคยเรียกตนเองว่าเป็นไซออนนิสต์ หรือผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนการตั้งรัฐอิสราเอล

ส่วนลอรา บลูเมนเฟลด์ นักวิชาการอาวุโส จาก Philip Merrill Center for Strategic Studies แห่ง Johns Hopkins School for Advanced International Studies บอกกับวีโอเอด้วยว่า นอกเหนือจาก “ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการสนับสนุนการป้องกันตนเองของอิสราเอล” ไบเดนยังเชื่อว่าเขาสามารถ “กรองพฤติกรรมของอิสราเอลในฐานะมิตรจากวงใน มากกว่าศัตรูจากภายนอก” อีกด้วย และว่า “มันคือทฤษฎีกอดรัดไว้ไม่ให้หลุดในการบีบบังคับเชิงกลยุทธ์ระดับสากล”

ไบเดนมีความสัมพันธ์ส่วนตัวมาหลายทศวรรษกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูของอิสราเอล โดยในปี 2010 ไบเดนเรียกเนทันยาฮูว่า “เพื่อนสนิทมากว่า 33 ปี” อย่างไรก็ตาม เมื่อเนทันยาฮูเดินหน้าสวนทางกับเป้าหมายของสหรัฐฯ ในกาซ่า หลายคนเริ่มตั้งคำถามถึงความชัดเจนของความสัมพันธ์ระหว่างไบเดนกับเนทันยาฮูว่ามีประโยชน์แค่ไหนในการยุติสงครามกาซ่า

มิลเลอร์ บอกกับวีโอเอว่า ไบเดนและเนทันยาฮู “ห่างเหินขึ้นเรื่อย ๆ” เพราะเริ่มได้เห็นความบาดหมางระหว่างสองผู้นำเริ่มเลวร้ายลงเรื่อย ๆ จากที่ไบเดนสนับสนุนถ้อยแถลงของวุฒิสมาชิกชัค ชูเมอร์ จากพรรคเดโมแครต ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิวที่มีตำแหน่งสูงที่สุดในรัฐบาลสหรัฐฯ ที่กล่าวว่า เนทันยาฮู คืออุปสรรคต่อสันติภาพ และเรียกร้องให้ชาวอิสราเอลจัดเลือกตั้งหาผู้ดำรงตำแหน่งแทนเนทันยาฮูหลังสงครามสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม มิลเลอร์มองว่า ไบเดนยังคงต้องการเนทันยาฮู เพื่อให้บรรลุข้อตกลงหยุดยิง และบรรลุเป้าหมายของคณะทำงานของเขา ในการสร้าง “กระบวนการสันติภาพแบบครอบคลุม” ที่มีแกนกลางอยู่บนแนวทางสองรัฐ

ในการระดมทุนที่นิวยอร์กเมื่อวันพฤหัสบดี ไบเดนได้กล่าวว่า ชาติอาหรับ รวมทั้งซาอุดีอาระเบีย เตรียมการที่จะ “ยอมรับอิสราเอลอย่างเต็มที่” สำหรับข้อตกลงหยุดยิง

ความเสี่ยงสงครามกาซ่าขยายวง

สงครามอิสราเอล-ฮามาสกำลังเดินหน้าเข้าสู่เดือนที่ 6 มีความเป็นไปได้ที่สงครามจะขยายวงในพิกัดอื่นในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะการปะทะระหว่างอิสราเอลกับเฮซบอลลาห์ บริเวณพรมแดนเลบานอนที่ยกระดับขึ้นเรื่อย ๆ

บลูเมนเฟลด์ บอกว่า ในสภาวะเช่นนี้ “ความช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไขต่ออิสราเอลจะทำให้เฮซบอลลาห์ อิหร่าน และฝ่ายอื่น ๆ พอใจ”

เซธ โจนส์ ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงระหว่างประเทศ แห่ง Center for Strategic and International Studies ให้ทัศนะกับวีโอเอว่า สหรัฐฯ จัดหาอาวุธให้แก่อิสราเอลเพื่อการป้องกันตนเองและการสู้รบในสงคราม ซึ่งการวางเงื่อนไขสำหรับระบบป้องกันตนเอง อย่างเช่น ระบบป้องกันขีปนาวุธ ไอรอน โดม (Iron Dome) จะถือเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง

โจนส์ เสริมว่า “เฮซบอลลาห์ มีขีปนาวุธราว 120,000-200,000 ลูก และระบบที่สามารถมุ่งเป้าโจมตีอิสราเอล ซึ่งอาจเกิดกว่าขีดความสามารถการป้องกันทางอากาศของอิสราเอล”

อย่างไรก็ตาม โจนส์ ชี้ว่า ยังมีมุมที่ความเสี่ยงต่ำกว่า ที่ไบเดนควรพิจารณาในการกำหนดเงื่อนไขความช่วยเหลือต่ออิสราเอล ในระบบอาวุธโจมตีบางประเภท เช่น ระเบิดและอาวุธนำวิถี

ภายใต้แรงกดดันจากนักการเมืองพรรคเดโมแครต เมื่อเดือนที่แล้ว ทำเนียบขาวได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้อง “จัดหาคำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรที่เชื่อถือได้” จากรัฐบาลต่างประเทศ ว่าอาวุธของสหรัฐฯ จะนำไปใช้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

อิสราเอลได้ให้คำรับรองดังกล่าว ภายใต้บันทึกความเข้าใจ ทางกระทรวงการต่างประเทศมีเวลาจนถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่จะประเมินคำรับรองอย่างเป็นทางการและรายงานต่อคองเกรส หากไม่พบว่าคำรับรองดังกล่าว “มีความน่าเชื่อหรือน่าไว้วางใจ” ไบเดนอาจใช้ทางเลือกนี้ในการระงับการส่งอาวุธให้อิสราเอลในอนาคตได้

นิมร้อด โกเรน นักวิชาการอาวุโสด้านกิจการอิสราเอล จาก Middle East Institute บอกกับวีโอเอว่า “ระหว่างที่สหรัฐฯ ประเมินคำรับรองจากอิสราเอล คำขอให้มีความช่วยเหลือทางการทหารอย่างมีเงื่อนไขจะถือว่าเป็นสิ่งที่เร็วเกินไป” และแม้ว่าความช่วยเหลืออิสราเอลอย่างมีเงื่อนไขของไบเดนอาจขึ้นอยู่กับแผนการของอิสราเอลต่อปฏิบัติการภาคพื้นดินในราฟาห์ แต่ตราบเท่าที่อิสราเอลไม่ข้ามเส้นอเมริกา โอกาสที่ไบเดนจะใช้เงื่อนไขดังกล่าว “ดูเหมือนจะมีอยู่ต่ำมาก”

ทั้งนี้ นายกฯ อิสราเอลยืนยันว่า เป้าหมายชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จต่อกลุ่มฮามาสจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการบุกเมืองราฟาห์ ซึ่งอิสราเอลอ้างว่ามีกองกำลังฮามาส 4 หน่วยที่มีนักรบฮามาสกลายพันนายกบดานอยู่ แต่คณะทำงานของไบเดนพยายามกดดันให้อิสราเอลหาหนทางอื่นแทนการ “บุกทะลวงเมืองราฟาห์”

เจ้าหน้าที่อิสราเอลและสหรัฐฯ กำลังหาทางหารือแผนที่เมืองราฟาห์ โดยที่ยังไม่มีกำหนดการหารือออกมาในขณะนี้ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะทำงานไบเดน เผยกับวีโอเอว่าพวกเขาหวังว่าการเจรจาจะเกิดขึ้น “อย่างเร็วที่สุดคือสัปดาห์นี้”

  • ที่มา: วีโอเอ

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG