ลิ้งค์เชื่อมต่อ

อนามัยโลกยังไม่ฟันธง 'วัคซีนบูสเตอร์' จำเป็นหรือไม่


A sign for a COVID-19 vaccine is seen in White Plains, N.Y. Johnson & Johnson said Aug. 25, 2021, that a booster shot for its vaccine after six months may have big benefits.
A sign for a COVID-19 vaccine is seen in White Plains, N.Y. Johnson & Johnson said Aug. 25, 2021, that a booster shot for its vaccine after six months may have big benefits.

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุในวันพุธว่า ข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด หรือ บูสเตอร์ช็อต เป็นสิ่งจำเป็นในขณะนี้หรือไม่

เมื่อต้นเดือนนี้ เจ้าหน้าที่ของ WHO ได้เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ชะลอการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถจัดการปัญหาความไม่เท่าทเียมด้านวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนให้ได้ก่อน

ในการประชุมแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ที่นครเจนีวา ในวันพุธ หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ WHO โซอัมยา สวามินาธาน กล่าวว่า WHO จัดทำนโยบายตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ และจากการประชุมหารือของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยครั้งล่าสุดมีความเห็นตรงกันว่า ผลการวิจัยและข้อมูลเกี่ยวกับความจำเป็นของการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันนั้น "ยังไม่ได้ข้อสรุป"

ทางด้านผู้ว่าการองค์การอนามัยโลก เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส เห็นด้วยกับการประเมินดังกล่าว และว่ายังคงมีประเด็นเรื่องความถูกต้องตามจรรยาบรรณของประเทศร่ำรวยที่เริ่มฉีดวัคซีนบูสเตอร์แล้ว ในขณะที่ยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่สามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ครบถ้วน

นายเทดรอสเปรียบเทียบกรณีที่เกิดขึ้นนี้ว่า เหมือนเป็นการโยนเสื้อชูชีพอีกตัวหนึ่งให้กับคนที่สวมเสื้อชูชีพอยู่แล้ว ในขณะที่คนอื่นรอบ ๆ ยังไม่มีเสื้อชูชีพและกำลังจะจมน้ำ

บรรดาเจ้าหน้าที่ของ WHO เชื่อว่า วัคซีนบูสเตอร์จะช่วยลดปัญหาโควิดระบาดทั่วโลกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่การฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ครอบคลุมอย่างน้อย 10% ประชากรโลก จะสามารถช่วยยับยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ได้มากกว่า

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของ WHO ยังได้ปฏิเสธแถลงการณ์ของรัฐบาลจีนในสัปดาห์นี้ ที่ออกมาบอกปัดทฤษฎีที่ว่าเชื้อโคโรนาไวรัสเล็ดลอดออกมาจากห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน แต่น่าจะมาจากห้องทดลองของกองทัพสหรัฐฯ ในรัฐแมรีแลนด์มากกว่า

ไมค์ ไรอัน ผอ.ฝ่ายความฉุกเฉินทางสาธารณสุขของ WHO กล่าวว่า ทุกทฤษฎีเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโคโรนาไวรัสยังคงอยู่ในการพิจารณา และจำเป็นต้องมีการตรวจสอบห้องทดลองในประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในข่ายด้วย

(ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวเอพี และรอยเตอร์)

XS
SM
MD
LG